เมื่อเอ่ยถึง “โครงการพัฒนา Smart Farmer ผู้ประกอบการต้นแบบ เพื่อยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำ หรือ Agri BIZ Idol Development Project” หลายคนคงสงสัยว่า โครงการนี้เป็นโครงการอะไร เกี่ยวข้องกับใคร และประเทศชาติได้อะไรจากโครงการนี้
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เล่าให้ฟังว่า โครงการพัฒนา Smart Farmer ผู้ประกอบการต้นแบบ เพื่อยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำ (Agri BIZ Idol Development Project) เป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนโยบายโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งกองพัฒนาเกษตรกรได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 โดยเน้นให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ ของเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer มืออาชีพ เพื่อรองรับการเกษตร 4.0 การพัฒนาสินค้าเกษตรคุณภาพสูง มีความปลอดภัย และสามารถแข่งขันในตลาดได้ (Smart Production) ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรต้นแบบและเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ได้ประกอบอาชีพด้านการเกษตรในลักษณะผู้ประกอบการที่มีการปรับเปลี่ยนวิธีทำการเกษตรจากรูปแบบเดิมไปสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming) และการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) ที่เน้นการผลิตสินค้าเกษตรด้วยการบริหารจัดการ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ในการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้แรงงาน ลดต้นทุนการผลิต บริหารจัดการปัจจัยการผลิตและกิจการที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ตลอดจนเป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าสินค้าเกษตร รวมทั้งการพัฒนากระบวนการผลิตและผลผลิต สู่การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และช่วยยกระดับสู่การส่งออก ตลอดจนช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในที่สุด ทั้งนี้ผู้นำด้านเกษตรที่จะเป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำเหล่านี้ก็จะกลายเป็นกำลังสำคัญของภาคเกษตรไทยในอนาคตต่อไป
สำหรับวิธีการขับเคลื่อนของโครงการพัฒนา Smart Farmer ผู้ประกอบการต้นแบบ เพื่อยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำ (Agri BIZ Idol Development Project) หรือโครงการฯ Agri – BIZ The Idol 2020 จะเป็นรูปแบบการฝึกอบรมแบบเข้มข้น เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และการพัฒนาศักยภาพให้กับเกษตรกร โดยมีทีมวิทยากรชั้นนำ หรือ Coach Agri BIZ และพี่เลี้ยงมากด้วยประสบการณ์ในด้านธุรกิจเกษตร คอยให้คำปรึกษาตลอดการอบรม โดยแบ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มเกษตรแปรรูป เพิ่มมูลค่า 2) เกษตรท่องเที่ยว 3) วิสาหกิจชุมชนและบริการการเกษตร 4) เกษตรวิถีอินทรีย์ และ 5) กลุ่มเกษตรไฮเทคและอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผ่าน
การอบรมแล้วทั้งสิ้นจำนวน 78 คน
นายสำเริง เชยชื่นจิตร (กวาง) 1 ในเกษตรกร 78 คน ที่ผ่านการอบรม ระบุว่า ได้นำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ มาปรับประยุกต์ใช้ในกิจกรรมเกษตรของตนเอง โดยเน้นการทำกิจกรรมร่วมกัน การใช้กระบวนการเรียนรู้ และการเป็นนักสื่อสารอย่างบูรณาการด้วยบทเพลงและการแสดงดนตรีสู่การเล่าเรื่อง เชื่อมโยงร้อยเรียงสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และการศึกษาเข้าด้วยกัน รวมถึงการนำกระบวนทัศน์วิถีคุณค่าและความหมายต่อมนุษย์การผลิตกสิกรรม (Values – Meaningful Agriculture Live) มาใช้เพื่อสร้างสมดุลกสิกรรมวิถีเข้มข้นเชิงเดี่ยว การผลิตเพื่อขายมิติเดียว และการสร้างพลเมืองและพัฒนาประชาชนรุ่นใหม่อย่างบูรณาการและเป็นองค์รวมในรูปแบบ “บ้านเกษตรกรชาวนาน้อย” (Little Farmer) เปิดโอกาสให้เยาวชน สถานศึกษา ชุมชน และสาธารณชน รวมไปถึงผู้ปกครองที่ได้พาลูกๆ มาร่วมทำกิจกรรม ได้เกิดการเรียนรู้รอบด้าน หลากหลายมิติจากการปฏิบัติจริง ตามปรัชญาว่า “ชาวนาน้อยทำเชิงเกษตรสุข บูรณาการ เชื่อมประสานการเรียนรู้ร่วมกัน ในรูปแบบ Co – Learning Space เชื่อมประสานวิถีการเกษตร ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สังคม การศึกษา สุนทรียะ ดนตรี ศิลปะ บ้าน วัด ชุมชน สังคม โรงเรียน มหาลัย” โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือตนเองได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักยึดในการพัฒนาและปฏิบัติในการดำรงชีวิต “แบบชีวิตเกษตรสุข” โดยจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับการเกษตร อาทิเช่น การดำนา การเกี่ยวข้าว การวิดน้ำ การปั้นดิน การขี่ควาย การจับปลา การทำผ้ามัดย้อม แคมป์ปิ้งกองไฟ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อเด็กๆ มีความสนุก สุข เรียบง่าย และเป็นกันเอง ในการเรียนรู้และได้รับประสบการณ์จริงด้วยตนเอง ถือเป็นกระบวนการปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่ออาชีพด้านการเกษตรให้กับเยาวชนอีกด้วย
นอกจากตนเองจะได้รับการประเมินให้ผ่านเกณฑ์เป็น Young Smart Farmer ของสำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตรแล้ว ยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศประจำโครงการความร่วมมือไทย – ลาว (TICA) ณ แขวงหลวงพระบาง สปป. ลาว และยังได้รับโอกาสให้ทำงานด้านอาสาสมัคร เช่น บัณฑิตอาสาสมัครเพื่อนไทย (FFT) ในโครงการส่งเสริมการเกษตร ความร่วมมือไทย – ลาว ในแขวงหลวงพระบาง สปป. ลาว อาสาสมัครมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร อาสาสมัครสิ่งแวดล้อมบึงสีไฟ อาสาสมัครจัดกิจกรรมตามรอยพ่ออย่างพอเพียง จิตอาสาระดมทุนโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อโรงพยาบาลพิจิตร ด้วยอัลบั้มเพลงสานฝันพิจิตรอาสาสมัครด้านดนตรีแก่องค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น โดยได้นำความรู้ความสามารถ และความโดดเด่นด้านดนตรีกับบทเพลง มาใช้เป็นกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ศิลปะในการสื่อสาร นำมาใช้ต่อยอดมาทำธุรกิจการเกษตรสร้างเรื่องราวให้แก่แบรนด์ชาวนาน้อย และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ของตนเองอีกด้วย
นายสำเริง เล่าให้ฟังอีกว่า การที่ตนเองมีความถนัดในด้านการใช้ศาสตร์และศิลป์ พร้อมกับการปฏิบัติด้วยการลงมือทำจริง ด้วยการสร้างสรรค์และสื่อสารงานด้านการเกษตร ทำให้เห็นว่าผลกำไรจากการประกอบอาชีพการเกษตรของตนเองแท้จริงแล้ว คือ การปลูกฝังทัศนคติที่ดีผ่านกิจกรรมต่างๆ ด้านการเกษตร ไปสู่เด็กๆ และเยาวชน เพื่อต่อยอดและเชื่อมโยงไปสู่เพื่อนเกษตรกรด้วยกัน คนรอบข้าง ชุมชน และสังคม รวมทั้งมีความเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า “พลังภาคีเครือข่าย” เป็นจุดเริ่มต้นหลักที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายภาคการเกษตร ขยายผลต่อเป็นทอดๆ และเรียงร้อยเข้าด้วยกัน เพราะการมีส่วนร่วมและการลงมือปฏิบัติจริงจะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านวิธีคิดและกระบวนการทำงานของสังคมด้านการเกษตรของประเทศไทยได้ โดยในแต่ละปีจะมีผู้ให้ความสนใจเยี่ยมชม ศึกษาเรียนรู้ และเข้าร่วมกิจกรรมของตนมากกว่า 500 คน/ปี แต่เมื่อได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ตนเองต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนผ่านสื่อออนไลน์ และใช้สื่อวีดิทัศน์ประกอบกิจกรรม ซึ่งในความคิดตนเองนั้น การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ ก็คือการสร้างสรรค์เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้อยู่ร่วมกันด้วยความรักอย่างมีความสุข ธุรกิจการเกษตรจะมั่นคงได้ต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างความสุข ในรูปแบบของเกษตรสุข การเกษตรที่สร้างความสุขทุกกระบวนการในหลากหลายมิติ (สุขภาพดี เศรษฐกิจดี สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี) ให้แก่ผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นแนวทางไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณกวาง (นายสำเริง เชยชื่นจิตร) เกษตรกรคนเก่งของเรา สามารถติดต่อได้ที่ 82/3 หมู่ 9 ตำบลดงกลาง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66170 โทรศัพท์หมายเลข 08 7382 5564