นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จังหวัดอุทัยธานีนับเป็นพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองฝักสดที่สำคัญ โดยมีพื้นที่ปลูกประมาณ 4,000 ไร่ และได้รับการส่งเสริมให้เป็นแปลงใหญ่ถั่วเหลืองฝักสด ตำบลทุ่งโพ อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 270 ราย พื้นที่ร่วมโครงการ 2,000 ไร่ ซึ่งแต่เดิมเกษตรกรในพื้นที่ทำนากันอย่างต่อเนื่อง โดยในรอบ 1 ปี จะทำนา 2 – 3 ครั้ง ส่งผลทำให้ดินมีสภาพเสื่อมโทรม พืชไม่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ตามปกติ ประกอบกับปัญหาด้านราคาของผลผลิตตกต่ำ เกษตรกรจึงรวมกลุ่มกันเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหา โดยมีแนวคิดที่ต้องการปลูกพืชหมุนเวียนที่เหมาะสมกับพื้นที่ เป็นพืชที่มีอายุสั้น ให้ผลผลิตสูง ราคาดี และมีตลาดรองรับแน่นอนมาปลูกสลับกับการทำนา เพื่อเป็นการช่วยฟื้นฟูสภาพดินไปด้วยและได้เริ่มนำเมล็ดถั่วเหลืองฝักสด (ถั่วแระญี่ปุ่น) มาทดลองปลูก ปรากฎว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งด้านการเพาะปลูก ราคา และผลผลิต ซึ่งมีบริษัท ลานนา เกษตรอุตสาหกรรม จำกัด มารับซื้อผลผลิต พร้อมทั้งมีการประกันราคารับซื้อที่แน่นอน
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ผลผลิตถั่วเหลืองฝักสดของจังหวัดอุทัยธานี มีความโดดเด่นในด้านรสชาติหอมหวาน อร่อย เกษตรกรจะปลูกปีละ 1 ครั้ง ในช่วงฤดูแล้งทดแทนการทำนาปรัง (ช่วงเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม) โดยจะเริ่มปลูกในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึง มกราคม 2565 ซึ่งถั่วเหลืองฝักสด (ถั่วแระญี่ปุ่น) เป็นพืชอายุสั้น อายุการเก็บเกี่ยวเพียง 68-70 วัน ในขณะที่ข้าวนาปรังมีอายุเก็บเกี่ยวถึง 120 วัน อีกทั้งเป็นพืชต้องการน้ำน้อย เพียง 300 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ใช้น้ำเพียง 1 ใน 5 ส่วนของการปลูกข้าวนาปรังที่ต้องใช้น้ำถึง 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ที่สำคัญมีตลาดรองรับที่แน่นอน ซึ่งในปี 2564/65 มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 2,000 ไร่ คาดว่าจะให้ผลผลิตทั้งหมด 2,400 ตัน เฉลี่ย 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นมูลค่าด้านเศรษฐกิจประมาณ 40 ล้านบาท
ด้าน นายประเสริฐ วณิชชากรวิวัฒน์ เกษตรจังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่า สำหรับการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองฝักสดของจังหวัดอุทัยธานี เป็นเชิงบูรณาการในลักษณะประชารัฐ ประกอบด้วยเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน ร่วมกับบริหารจัดการในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ในปี 2564 แปลงใหญ่ถั่วเหลืองฝักสด ตำบลทุ่งโพ อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ได้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด โดยต้องการยกระดับกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการของกลุ่มแปลงใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้แรงงาน โดยใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ที่เหมาะสม เช่น ใช้รถแทรกเตอร์พร้อมใบมีดดันดิน เพื่อปรับพื้นที่แปลงปลูกให้เรียบก่อนปลูก ใช้เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ยกร่องพร้อมปลูก ใช้โดรนพ่นสารเคมีหลังจากเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองฝักสด และใช้เครื่องอัดเม็ดอาหารสัตว์อัดเศษถั่วเหลืองฝักสดที่เหลือเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละอองด้วยการใช้เครื่องอัดฟาง มาอัดฟางข้าวหลังจากเกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จสิ้นแล้วอีกด้วย
ทั้งนี้ แปลงใหญ่ถั่วเหลืองฝักสด อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ถือเป็นแปลงใหญ่ต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จ มีความพร้อมเปิดให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ การทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการ