ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในปี 2564/2565 นี้ (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 30 เมษายน 2565) พบว่า สถานการณ์น้ำต้นทุนตามแหล่งน้ำต่างๆ มีปริมาณจำกัด ซึ่งคณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร ได้มีมติเห็นชอบแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง และการเตรียมพร้อมรับมือปี 64/65 ซึ่งกำหนดให้บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่คณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ และการจัดการพื้นที่เข้าร่วมประชุมจึงได้กำหนดแผนให้สอดคล้องแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง และการเตรียมพร้อมรับมือปี 64/65 โดยกำหนดพื้นที่การเพาะปลูก ทั้งประเทศ จำนวน 11.65 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 9.02 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 6.41 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2.61 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก จำนวน 2.63 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.54 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2.09 ล้านไร่ ทั้งนี้ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำโครงการสนับสนุนการปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยเพื่อทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 และรองรับการทำการเกษตรในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง
ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากนโยบายดังกล่าวกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดทำโครงการที่เน้นส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยและส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า จำนวน 3 โครงการ เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกรในช่วงที่น้ำต้นทุนมีปริมาณจำกัด ประกอบด้วย
1.โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับไร่นา เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความตระหนักการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และมีความรู้ในการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบการให้น้ำแก่พืชที่ถูกต้อง โดยมีการถ่ายทอดความรู้หลักสูตรการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าในพื้นที่ดำเนินการให้แก่เกษตรกรเป้าหมาย จำนวน 50 แห่งๆ ละ 50 ราย รวม 2,500 ราย และจัดทำแปลงเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับไร่นาในชุมชน เพื่อเป็นตัวอย่างและจุดเรียนรู้ให้กับเกษตรกร และขยายผลสู่พื้นที่ดำเนินการ จำนวน 50 แห่ง (ประมาณ 200 ไร่)
2.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา จะเน้นส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา จำนวน 2,000 ราย ผ่านการอบรมโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรายใหม่ และจัดทำแปลงเรียนรู้ 194 แปลง พื้นที่ 582 ไร่ ใน 36 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดปราจีนบุรี ชัยนาท สระบุรี กำแพงเพชร เชียงราย ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา นครพนม บุรีรัมย์ มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ โดยในทุกระยะการผลิต จะมีนักส่งเสริมการเกษตรคอยเป็นพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำตลอดโครงการ รวมทั้งจะมีการจัดประชุมเชื่อมโยงเครือข่ายผู้รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ทั้ง 3 ภูมิภาค ที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของข้าวโพด คือ เขตภาคเหนือ เขตภาคอีสาน และเขตภาคกลาง ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมการค้าพืชไร่
3.โครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิต กิจกรรมส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง มีเป้าหมายพื้นที่ดำเนินการ เกษตรกร 6,572 ราย พื้นที่ 6,572 ไร่ 18 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี แพร่ ตาก ชัยนาท สระบุรี และกรุงเทพมหานคร ศรีสะเกษ สกลนคร อุบลราชธานี และจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสนับสนุนการจัดทำแปลงเรียนรู้การปลูกพืชหลากหลายทดแทนการทำนาปรัง ตั้งแต่กระบวนผลิตจนถึงการจำหน่าย เพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชหลากหลายในพื้นที่นาปรัง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ จัดทีมลงพื้นที่สร้างความเข้าใจแก่เกษตรกร พร้อมเชิญชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ซึ่งที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรให้ความสนใจและสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 ซึ่งเป็นพืชที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และมีตลาดรองรับ สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่เคยปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทุกพื้นที่พร้อมจะให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรตลอดโครงการ หากสนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสอบถามรายละเอียดของแต่ละโครงการได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ ใกล้บ้านท่าน
ข้อมูล : กองส่งเสริมโครงการพระราชดำริการจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร และสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร