นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาในพื้นที่โล่งทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ก่อให้เกิดหมอกควันปกคลุมไปทั่วบริเวณ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรง ทำให้ดินมีสภาพเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ ผลผลิตลดลง และต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบดำเนินการควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร และมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยเน้นเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และนำเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผา รวมทั้งสร้างต้นแบบในการทำการเกษตรปลอดการเผาเพื่อสนับสนุนการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2565 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรมีเป้าหมายสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา โดยใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพกรผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หรือศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) หรือกลุ่มเกษตรกรให้ได้ 294 เครือข่าย ในพื้นที่ 60 จังหวัด พร้อมจัดอบรมหลักสูตรถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้สามารถเป็นวิทยากรด้านการทางการเกษตรปลอดการเผา มีความรู้พื้นฐานด้านผลกระทบที่เกิดจากการเผาในพื้นที่การเกษตร และสามารถนำเสนอทางเลือกและสาธิตการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผาแก่เกษตรกร เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและสร้างจิตสำนึกของเกษตรกรให้ยอมรับการทำการเกษตรแบบปลอดการเผา รวมทั้งจัดกิจกรรมนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา หรือส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเพื่อแก้ปัญหาการเผาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะพิจารณาใช้เทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผาที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เพื่อใช้เป็นจุดเรียนรู้และศึกษาดูงานในด้านการทำการเกษตรปลอดการเผาสำหรับเกษตรกรรายอื่นๆ เช่น จัดทำแปลงเรียนรู้การไถกลบตอซังทดแทนการเผา ทำปุ๋ยหมัก เพาะเห็ดฟาง ผลิตอาหารสัตว์ ผลิตถ่านอัดแท่ง หรือการปลูกพืชทดแทน เป็นต้น โดยใช้หลักคิดการถ่ายทอดความรู้แบบเห็นของจริง เกษตรกรได้รับความรู้ถึงผลกระทบจากการเผา มีทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตรและเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผามาปรับใช้
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การเผาในพื้นที่การเกษตรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ทำการเผาในพื้นที่ทำนา ปลูกอ้อย และปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในรอบต่อไป กรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น จึงได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด นำร่องจัดงาน Kick Off รณรงค์ส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2564/2565 ขึ้น ณ บ้านดู่ใหญ่ หมู่ที่ 3 ตำบลหนองแคน อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาในพื้นที่ เกิดทางเลือกการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร และเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผา โดยภายในงานมีการแสดงนิทรรศการและบูธจำหน่ายสินค้าการเกษตร การสาธิตการหว่านปอเทือง การไถกลบตอซังฟางข้าว และการใช้โดรนพ่นสารชีวภัณฑ์ในนาข้าวอีกด้วย