เกษตรฯ เผยผลสำเร็จหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ชี้สระบุรีพบจุดความร้อนลดลงเกินกว่าครึ่ง

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ปัญหาวิกฤติหมอกควันที่ปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทยที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปี ซึ่งพบว่าสาเหตุหนึ่งมาจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูก  ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรง ทำให้ดินเสื่อมโทรมขาดความอุดมสมบูรณ์ ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น และผลผลิตที่ได้รับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จึงได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการรณรงค์ เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์กระตุ้นจิตสำนึกของเกษตรกรให้หยุดเผาในพื้นที่เกษตร นำเสนอทางเลือกต่าง ๆ แก่เกษตรกรเพื่อทดแทนการเผา รวมถึงการใช้กลไกเครือข่ายความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการหยุดเผาที่ยั่งยืน

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2564 สามารถขยายเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร รวม 280 เครือข่าย ในพื้นที่ 60 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ จังหวัดสระบุรี มีผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมเป็นที่น่าพอใจ จากการติดตามสถานการณ์จุดความร้อนของ จังหวัดสระบุรี ในช่วงเดือนมกราคม- พฤษภาคม 2564  โดยดาวเทียม TERRA และ AQUA ระบบ MODIS ของสํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) พบว่าจุดความร้อนในพื้นที่เกษตรลดลงจากช่วงเดียวกันของ ปี 2563 จากจํานวน 70 จุด เหลือเพียง 31 จุด ในปี 2564 ลดลงคิดเป็นร้อยละ 53.71 และในภาพรวมทั้งประเทศจาก 6,285 จุด เหลือ 3,320 จุด ลดลงคิดเป็นร้อยละ 47.17  เนื่องจากที่ จังหวัดสระบุรี  เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรได้ลงพื้นที่สร้างการรับรู้แก่เกษตรกรให้รู้ถึงผลกระทบจากการเผา  และสร้างเครือข่ายปลอดการเผาในพื้นที่เกษตรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผาให้แก่เกษตรกร เช่น การเผาถ่านจากมันสำปะหลัง  การไถกลบตอซัง การเพาะเห็ดฟาง เป็นต้น ส่งผลให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติและเกิดจิตสำนึกยอมรับการทำเกษตรแบบปลอดการเผามากขึ้น

สำหรับปีงบประมาณ 2565 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมเดินหน้าโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรต่อเนื่อง มีเป้าหมายสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา โดยใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพกรผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หรือศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) หรือกลุ่มเกษตรกร ให้ได้ 294 เครือข่าย ในพื้นที่ 60 จังหวัด โดยการจัดอบรมหลักสูตรถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้สามารถเป็นวิทยากรด้านการทางการเกษตรปลอดการเผา มีความรู้พื้นฐานด้านผลกระทบที่เกิดจากการเผาในพื้นที่การเกษตร และสามารถนำเสนอทางเลือกและสาธิตการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผาแก่  เกิดเป็นเครือข่ายเกษตรแบบปลอดการเผาที่อย่างยั่งยืนต่อไป