กรมส่งเสริมการเกษตรขยายผล “เกษตรวิชญา” น้อมนำแนวพระราชดำริสู่การปฏิบัติ

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีภารกิจสำคัญในการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมดำเนินการโครงการเกษตรวิชญา ตั้งอยู่ที่บ้านกองแหะ หมู่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ    พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ด้วยทรงทอดพระเนตรถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมถูกทำลายจากกิจกรรมการเกษตรบนพื้นที่สูงซึ่งเกษตรกรขาดความเข้าใจในการทำเกษตรแบบยั่งยืน และขาดความรู้เรื่องของทรัพยากร จึงได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ จำนวน 1,350 ไร่ จัดตั้งโครงการเกษตรวิชญาขึ้น เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2544 เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร โดยภายในศูนย์แบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 ส่วน คือ พื้นที่ทรงงาน 32 ไร่ พื้นที่ส่วนราชการ 138 ไร่ พื้นที่พัฒนาการเกษตร 139 ไร่ พื้นที่เขตวนเกษตร/ธนาคารอาหารชุมชน 123 ไร่ และพื้นที่ป่าไม้ 918 ไร่

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้ามาดำเนินการในพื้นที่ส่วนราชการลักษณะเป็นคลินิกเกษตร เผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ในรูปแบบของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชน ทำหน้าที่เป็นศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมให้เกิดเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารธรรมชาติและมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้เริ่มดำเนินการแปลงสาธิตผลิตพืชและไม้ผลที่สูงมาตั้งแต่ปี 2562 ด้วยการจัดสรรพื้นที่ส่วนราชการ จำนวน 4 ไร่ เป็นแปลงกระเทียม แปลงมันเทศญี่ปุ่น แปลงแมคคาเดเมีย แปลงพลับ  แปลงอโวคาโด แปลงกุหลาบ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรที่สูง ศูนย์การเรียนรู้พืชสวน ศูนย์การเรียนรู้แมลงเศรษฐกิจ ศูนย์การเรียนรู้ไม้ผลที่สูง และโรงเรือนผักเคล

ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินงานโครงการเกษตรวิชญาในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดอบรมเกษตรกรในพื้นที่ จำนวน 60 ราย ให้เกิดองค์ความรู้ทั้งในเรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีทางพืชอาหาร (GAP) การใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชและคลังอาหารจากพืช การส่งเสริมการผลิตพืชผักปลอดภัย การดูแลแปลงสาธิตด้านการเกษตรเพื่อเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ มีการบูรณาการของศูนย์ปฏิบัติการในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรสามารถน้อมนำแนวพระราชดำริไปปรับใช้ เกิดความตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 รายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน