นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564เห็นชอบการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือ BCG Model ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ BCG Model ด้านการเกษตร โดยมีนายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อกำหนดแนวทาง มาตรการ และกลไกการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปี 2564 – 2570 ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขานรับนโยบายดังกล่าว และกำหนดแนวทางการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว ดังนี้ 1) เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) โดยส่งเสริมการใช้พืชพันธุ์ดี ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในกระบวนการผลิตทางการเกษตร ใช้ปุ๋ยอย่างผสมผสาน (ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ) ใช้ทรัพยากรให้เต็มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ยกระดับกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง มีคุณภาพได้มาตรฐาน แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มและเชื่อมโยงตลาด 2) ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยลดของเหลือทิ้งในกระบวนการผลิต หรือนำมาผลิตเป็นปุ๋ยและวัสดุปรับปรุงดินเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับทรัพยากรดิน และสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และ 3) ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมกำจัดศัตรูพืช การใช้วัสดุอินทรีย์ในการปรับปรุงบำรุงดิน ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยบนความยั่งยืนของฐานทรัพยากร รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG แก่กำลังคนในภาคการเกษตร และสนับสนุนการขับเคลื่อนในพื้นที่นำร่องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมดำเนินกิจกรรม “โครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2564” ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการสนับสนุนกิจกรรมและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่เกษตรกร ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร และมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ที่ได้ดำเนินการร่วมกันมาตั้งแต่ปลายปี 2558 นับเข้าสู่ปีที่ 6 ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วยกรมส่งเสริมการเกษตร มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เพื่อสรรหา ยกย่อง เชิดชูเกียรติ และสนับสนุนเกษตรกร ที่มีแนวความคิดและการปฏิบัติด้านเกษตรอินทรีย์ ใช้องค์ความรู้ต่าง ๆ มาพัฒนาและต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต รวมไปถึงการสร้างความมั่นคงยั่งยืนแก่คุณภาพชีวิตของตนเอง สังคมและชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในเรื่องเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy : BCG) รวมถึงการเผยแพร่ผลงานและความสำเร็จของเกษตรกรต้นแบบสำนึกรักบ้านเกิดสู่สาธารณชน ให้เกิดการยอมรับและเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรในด้านการประกอบอาชีพด้านการเกษตร โดยในปี 2564 นี้ได้ดำเนินกิจกรรมภายใต้กรอบแนวคิด “เกษตรสร้างสรรค์ สุขยั่งยืน”
กรมส่งเสริมการเกษตร มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้จัดงานประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2564 และจัดพิธีมอบรางวัลขึ้น ในวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA) ถนนกำแพงเพชร 6 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก นายอลงกรณ์ พลบุตรที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานมอบรางวัลให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือก และมอบแนวทางความร่วมมือในการจัดทำโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งในปีนี้มีเกษตรกรสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ มากกว่า 250 คน โดยผู้ได้รับรางวัลจะได้รับเงินสนับสนุนพร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ รวมมูลค่ากว่า 400,000 บาท ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายนราธิป ภูมิถาวรจังหวัดสุโขทัย (Young Smart Farmer) พัฒนาการเลี้ยงปูนาให้เป็นระบบ GAP และระบบอินทรีย์ “ปูนาอินทรีย์สร้างชีวิต” โดยการจำหน่วยพ่อ/แม่พันธุ์ ลูกปูนา และแปรรูปปูนา ภายใต้แบรนด์ “ฟาร์มปูนา ชญาดา ออร์แกนิค” รวมทั้งได้ต่อยอดการเลี้ยงและการผลิตไปสู่ชุมชนและผู้สนใจ ปัจจุบันมีเครือข่ายทั่วประเทศ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 ได้แก่ นายจิรภัทร คาดีวี จังหวัดกาฬสินธุ์ (Young Smart Farmer) ทำการเกษตรอินทรีย์ในรูปแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต เก็บเกี่ยว และการจัดจำหน่วยสินค้า เช่น ผลิตผักสลัดอินทรีย์ น้ำสลัด กุ้งก้ามกรามสด/แช่แข็ง น้ำพริกกุ้งสมุนไพร ภายใต้แบรนด์ “แสนบุญฟาร์ม” รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ นายธนวัฒน์ มโนวชิรสรรค์จังหวัดพังงา (Young Smart Farmer) ผลิตและแปรรูปสินค้าด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ “มังคุดออร์แกนิค Best of PHANG – NGA” ผลผลิต เช่น มังคุด สะตอฝัก และผลไม้แปรรูป เช่น น้ำมังคุด มังคุดกวน มะม่วงเบาแช่อิ่ม น้ำพริกพริงไทย ภายใต้แบรนด์ “สวนบ้านแม่” เน้นเทรนด์การขายสมัยใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์ และรางวัลเกษตรกรดีเด่น อีก 7 รางวัล ได้แก่ นายภิญญา ศรีสาหร่าย จังหวัดราชบุรี (Young Smart Farmer) ปลูกผักและผลไม้อินทรีย์ตามมาตรฐาน IFOAM ภายใต้แบรนด์ “ฟาร์มฝันแม่ เกษตรอินทรีย์” นายอิสมาแอล ลาเต๊ะจังหวัดยะลา (Young Smart Farmer) ทำเกษตรผสมผสาน “ปลูกผักยกแคร่ วิถีอินทรีย์” ภายใต้แบรนด์ “สวนนูริสฟาร์ม” นายมโนธรรม ชูแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี (Smart Farmer ต้นแบบ) ทำสวนเกษตรผสมผสาน ภายใต้แบรนด์ “บ้านไร่ ชายน้ำ ฟาร์มนก” นางสาวรัฐรินทร์ สว่างสาลีรัฐ จังหวัดสระแก้ว (Young Smart Farmer/Agri BIZ The Idol 2020) ทำเกษตรผสมผสาน/เกษตรทฤษฎีใหม่/ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ผลผลิตและการแปรรูป ภายใต้แบรนด์ “ไร่ดีต่อใจ” นางสาวพิริยากร ลีประเสริฐพันธ์จังหวัดหนองคาย (Young Smart Farmer) ทำการเกษตรผสมผสาน เน้นเกษตรอินทรีย์ “ปลูกเองกินเอง เหลือแจกจ่ายให้คนรอบข้าง” ภายใต้แบรนด์ “Garden Three” นางสาวภัทรฤทัย พรมนิล จังหวัดนครพนม (Young Smart Farmer) ทำการเกษตรผสมผสาน เลือกเกษตรอินทรีย์เพื่อใช้ธรรมชาติบำบัด ภายใต้แบรนด์ “นพรัตน์ ฟาร์ม” และนางสาวนภัสวรรณ เมณะสินธุ์ จังหวัดอุบลราชธานี (Young Smart Farmer) ผลิตไม้ดอกเบญจมาศและแปลงใหญ่ไม้ดอกบ้านตาติด ด้วยการทำอินทรีย์ 100% ภายใต้แบรนด์ “สวนเบญจมาศนภัสวรรณ บ้านตาติด จังหวัดอุบลราชธานี”