กรมส่งเสริมการเกษตรเตือนเกษตรกร ระวังโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ระบาดในพื้นที่

          นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด พบการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ประสานงานกับการยางแห่งประเทศไทยแล้ว พบว่าเป็นโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ที่เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. หรือเชื้อรา Colletotrichum sp. ซึ่งสามารถแพร่ระบาดโดยการพัดไปตามกระแสลม และน้ำฝน รวมถึงการเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์หรือวัสดุปลูกจากแปลงที่เกิดโรค หากเกิดการระบาดจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตน้ำยางได้ โดยเฉพาะในจังหวัดตราดที่มีพื้นที่ติดกับชายแดนราชอาณาจักรกัมพูชาที่มีการปลูกยางพารา เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่กระจายในวงกว้าง กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอลงพื้นที่สำรวจพร้อมสร้างเข้าใจให้กับเกษตรกรในพื้นที่ระบาดของโรคใบร่วงยางพาราและโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่

          ทั้งนี้ โรคใบร่วงยางพารา เกิดจากเชื้อรา Phytophthora botryosa Chee หรือ P. palmivora (Butler) หากเกิดโรคจะมีลักษณะ ใบแก่ เกิดจุดแผลฉ่ำน้ำ ขนาดไม่แน่นอน บริเวณก้านใบมีรอยช้ำ จุดกึ่งกลางของรอยแผลช้ำ มีหยดน้ำยางเกาะอยู่ ใบย่อยหลุดร่วงจากก้านใบ ใบร่วงทั้งที่ยังมีสีเขียวสด หรือเหลือง หากเชื้อเข้าทำลายฝักจะเกิดอาการเน่า โดยอาจพบเชื้อราสีขาวเจริญปกคลุม ฝักไม่แตก และไม่ร่วงหล่น

          สำหรับโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. หรือ Colletotrichum sp. ในอาการเริ่มแรก จะเกิดจุดช้ำบริเวณใต้ใบ และด้านบนของใบบริเวณเดียวกันจะเป็นสีเหลืองลักษณะกลม ต่อมาจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นสีคล้ำ ขอบแผลดำ และกลายเป็นเนื้อเยื่อแห้งสีน้ำตาลจนถึงขีดขาวซีด รูปร่างจุดแผลค่อนข้างกลม รอบแผลไม่มีสีเหลืองล้อมรอบ จำนวนมากกว่า 1 จุด อาจซ้อนกันเป็นแผลขนาดใหญ่ เมื่ออาการรุนแรงจะเกิดใบเหลืองและร่วง

          ในส่วนของการป้องกันกำจัด กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำดังนี้ 1) ใส่ปุ๋ยบำรุงสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับต้นยางพารา เมื่อเกิดอาการใบเหลืองและร่วง ต้นยางจะสามารถสร้างใบใหม่ออกมาทดแทนใบยางที่ร่วงเนื่องจากโรคได้อย่างรวดเร็ว 2) ใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ ได้แก่ เชื้อราไตรโครเดอร์มา ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคที่ติดมากับใบที่ร่วงลงดิน และจะช่วยส่งเสริมให้ต้นยางแข็งแรง 3) พ่นสารเคมีควบคุมโรค โดยฉีดพ่นบริเวณทรงพุ่มและพื้นดินให้ทั่วแปลงเมื่อพบการระบาดที่รุนแรง โดยฉีดพ่นพุ่มใบอย่างน้อย 2 ครั้ง ทำซ้ำทุก 7-15 วัน และฉีดพ่นพื้นสวนที่มีใบที่เป็นโรคร่วงหล่นด้วย