นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และสำรวจสภาพพื้นที่สม่ำเสมอ เพื่อจะได้ประสานงานให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในเบื้องต้นได้ทันที กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดดำเนินการตามแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์จากปริมาณน้ำต้นทุนและความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชได้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ และเป็นแผนการบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน โดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ รวมถึงให้มีการกำกับติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 ของเกษตรกรให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ/สำนักงานเกษตรจังหวัด หมั่นลงสำรวจพื้นที่ที่เสี่ยงที่อาจจะเกิดภัยแล้งอย่างสม่ำเสมอ พร้อมให้คำแนะนำและเสนอทางเลือกใหม่แก่เกษตรกร ผ่านโครงการเด่นของกรมส่งเสริมการเกษตรทั้ง 3 โครงการ คือ โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับไร่นา โดยจะมีการถ่ายทอดความรู้หลักสูตรการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า พร้อมจัดทำแปลงเรียนรู้เพื่อเป็นตัวอย่างและจุดเรียนรู้ให้กับเกษตรกร จำนวน 52 แห่ง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา เน้นส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรายใหม่ พร้อมจัดทำแปลงเรียนรู้เพื่อเป็นตัวอย่างและจุดเรียนรู้ให้กับเกษตรกรใน 36 จังหวัด และโครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิต กิจกรรมส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน สนับสนุนการจัดทำแปลงเรียนรู้การปลูกพืชหลากหลายทดแทนการทำนาปรัง ตั้งแต่กระบวนผลิตจนถึงการจำหน่าย เพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชหลากหลายในพื้นที่นาปรังใน 11 จังหวัด ทั้งนี้ทั้ง 3 โครงการได้เริ่มดำเนินการแล้ว
นายเข้มแข็ง กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการเข้าร่วมโครงการข้างต้นแล้ว หากเกษตรกรมีความประสงค์จะได้พืชน้ำน้อยพันธุ์ดีชนิดต่างๆ มาเพาะปลูกเพิ่มเติม กรมส่งเสริมการเกษตรมีศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 แห่ง ซึ่งผลิตพันธุ์พืชพันธุ์ดีพร้อมจำหน่าย ทั้งในรูปแบบต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แตงกวา พริก พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น และนอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตรยังขอให้เกษตรกรระมัดระวัง และหมั่นสังเกตโรคและแมลงที่อาจเกิดขึ้นในแปลงเพาะปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการระบาดในวงกว้างที่จะสร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรได้ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมความพร้อมผลิตชีวภัณฑ์เพื่อใช้ควบคุมศัตรูพืชในฤดูแล้ง ได้แก่ เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราเมตาไรเซียม เชื้อไวรัสเอ็นพีวี และแมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียนแมลงดำหนามมะพร้าว แตนเบียนหนอนหัวดำมะพร้าว แตนเบียนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง แมลงหางหนีบ แมลงช้างปีกใส มวนเพชฌฆาต ฯลฯ สนับสนุนพื้นที่ที่อาจจะประสบภัยจากแมลงศัตรูพืชระบาด โดยเกษตรกรสามารถขอรับการสนับสนุนได้ที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช ทั้ง 9 แห่ง หรือผ่านสำนักงานเกษตรอำเภอ/สำนักงานเกษตรจังหวัดทั่วประเทศได้เช่นกัน