กรมส่งเสริมการเกษตร โชว์ผลสำเร็จโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด กลุ่มเกษตรกรนาเกลือสมุทรสาครใช้เทคโนโลยีผ้าใบรองในแปลง ได้เกลือขาว ไร้เกลือดำ ดันขึ้น GAP พร้อมยกเป็นต้นแบบแก่เกษตรกรนาเกลือกลุ่มอื่น
นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ที่สมัครเข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด พบว่า มีกลุ่มแปลงใหญ่หลายกลุ่มสามารถดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการในการจัดหาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาอาชีพของกลุ่มได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างที่น่าสนใจกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มแปลงใหญ่เกลือทะเล หมู่ 5 ตำบลบ้านบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเกษตรกรกลุ่มนี้ได้จัดซื้อผ้าใบมาใช้ปูพื้นนาเกลือทะเล เพื่อให้แก้ไขปัญหาด้านคุณภาพผลผลิตที่ไม่สามารถควบคุมได้จากกระบวนการผลิตเกลือสมุทรหรือเกลือทะเลแบบดั้งเดิม ซึ่งจะทำกับพื้นนาโดยตรง ทำให้เวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตจะมีเศษดินติดมา หรือสีของเกลือไม่ขาวใส สำหรับการใช้ผ้าใบมาปูรองพื้นนาเกลือ จะทำให้ผลผลิตเกลือทะเลที่ได้มีสีขาว ใส และมีปริมาณเพิ่มขึ้น มีคุณภาพดีตรงความต้องการของตลาด รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้อีกด้วย
สำหรับกลุ่มแปลงใหญ่เกลือทะเล หมู่ 5 ตำบลบ้านบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับการสนับสนุนเพื่อจัดซื้อผ้าใบที่ใช้ปูพื้นนาเกลือทะเล จำนวน 12 ราย บนพื้นที่จำนวน 12 ไร่ จำนวน 2,208,000 บาท ซึ่งผลจากการปูผ้าใบในแปลงนาเกลือ (นาปรง) จะช่วยลดค่าแรงงาน ค่าน้ำมันในการบดอัดพื้นดินในแต่ละรอบการผลิต รวมถึงค่าซ่อมเครื่องจักร ในขณะที่คุณภาพเกลือทะเลที่ได้นั้น พบว่าได้เกลือขาวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 80 (ราคาซื้อเกลือขาว 1.50 บาท/กิโลกรัม) เกลือกลาง ลดลงจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 20 (ราคาซื้อเกลือกลาง 0.50 บาท/กิโลกรัม) และเกลือดำ จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 0 คือ ไม่มีผลผลิตที่เป็นเกลือดำเลย (ราคาซื้อเกลือดำ 0.33 บาท/กิโลกรัม) และที่สำคัญ การปูผ้าใบในแปลงนาเกลือ (นาปรง) จะช่วยเพิ่มรอบการผลิตเกลือ จากปีละ 5 รอบ เป็นปีละ 7 รอบ รวมถึงผลผลิตต่อรอบจะเพิ่มขึ้นจาก 24,000 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 32,000 กิโลกรัม/ไร่ ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่าผ้าใบที่ใช้ปูพื้นนาเกลือทะเล เป็นวัสดุที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก High Density Polyethylene (HDPE) ผลิตจากเม็ดพลาสติกใหม่บริสุทธิ์ โดยไม่ผ่านการใช้งานมาก่อน และเป็นพลาสติกคุณภาพสำหรับอาหาร (Food grade) ที่มีใบรับรองคุณภาพแสดงขอบเขตต้องการแผ่นกันซึม (Geomembrane) สำหรับการใช้ปูพื้นบ่อผลิตเกลืออย่างถูกหลักอนามัยด้วย
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้วางเป้าหมายให้สมาชิกแปลงใหญ่ ทั้ง12 ราย ดำเนินการผลิตตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล และดำเนินการขอตรวจรับรองแหล่งผลิต GAP การทำนาเกลือทะเล และเกลือทะเลธรรมชาติ รวมถึงการผลักดันการขอการรับรองสินค้าเกลือทะเล ให้เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดสมุทรสาครต่อไปในอนาคต ซึ่งจะเป็นช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้สูงขึ้นได้