จากนโยบายขับเคลื่อนภาคเกษตรภายใต้หลัก “ตลาดนำการผลิต” ซึ่งให้ความสำคัญ ตั้งแต่การวิเคราะห์ความต้องการของตลาดทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเพื่อเชื่อมโยงกับการวางแผนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร การตรวจสอบย้อนกลับ ตลอดจนการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่เกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลดต้นทุน และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ที่ ดร. ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวไว้ในงานเปิดตัวโครงการ “ระบบบริหารจัดการแปลงเกษตรอัจฉริยะด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ (HandySense)” เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 นั้น ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรได้ขับเคลื่อนการใช้ระบบ HandySense ในแปลงเกษตรต้นแบบรวม 16 แห่งทั่วประเทศ
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ HandySense ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในพื้นที่ต้นแบบทั้ง 16 จุด ที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อเป็นจุดเรียนรู้ขยายผลสู่เกษตรกรที่สนใจ ประกอบด้วยศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 6 ศูนย์ ได้แก่ 1) ศพก. เครือข่าย ศูนย์เกษตรอินทรีย์ ตําบลท่าดินดํา อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี พืชปลูกคือหอมหัวใหญ่ 2) ศพก. อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พืชปลูกคือสับปะรด 3) ศพก. อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว พืชปลูกคือพืชผัก 4) ศพก. อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ พืชปลูกคือเห็ดนางฟ้าภูฐานและเห็ดนางรมดำ 5) ศพก. อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต พืชปลูกคือเห็ดนางฟ้า และ 6) ศพก. อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ พืชปลูกคือสตรอเบอรี่ และศูนย์ปฏิบัติการในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตรอีกจำนวน 10 ศูนย์ ได้แก่1) ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตรจังหวัดชัยนาท พืชปลูกคือส้มโอขาวแตงกวา 2) ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด พืชปลูกคือมะนาววงบ่อซีเมนต์ 3) ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเชียงราย พืชปลูกคือกล้วยไม้ 4) ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร พืชปลูกคือกล้วยไม้ 5) ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดระยอง พืชปลูกคือทุเรียน 6) ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี พืชปลูกคือทุเรียน 7) ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง พืชปลูกคือพริกไทย 8) ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา พืชปลูกคือมะขามเทศเพชรโนนไทย 9) ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งปลูกหน่อไม้ฝรั่ง และ 10) ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี พืชปลูกคือ พริก หน่อไม้ฝรั่ง มะละกอและมะเขือเทศ ปัจจุบันพื้นที่ต้นแบบทั้ง 16 จุด ได้ติดตั้งอุปกรณ์ HandySense เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการทดสอบการใช้งานระบบ รวมถึงเตรียมการจัดฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจ
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า เงื่อนไขและคุณสมบัติของพื้นที่ต้นแบบตามโครงการนี้ แบ่งตามการสนับสนุนที่มาจาก 2 แหล่งทุน คือ ธ.ก.ส. สนับสนุนให้กับ ศพก. 6 ศูนย์ และเนคเทค สนับสนุนให้กับศูนย์ปฏิบัติการ 10 ศูนย์ โดยคัดเลือกศูนย์ที่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค คือ ไฟฟ้า น้ำ และอินเทอร์เนต โดยเงื่อนไขและคุณสมบัติของ ศพก. ที่ผ่านการคัดเลือกที่สำคัญ คือ 1) ความพร้อมของแปลงเรียนรู้ ต้องมีขนาดไม่เกิน 5 ไร่ มีแหล่งน้ำ มีระบบการให้น้ำแบบท่อส่งน้ำในโรงเรือนหรือในแปลงเพาะปลูก รวมถึงปั๊มน้ำ มีระบบไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต พร้อมที่จะสามารถเชื่อมต่อหรือใช้งานในพื้นที่ติดตั้งได้ 2) ความพร้อมของเกษตรกร ต้องเป็นเกษตรกรต้นแบบ ศพก. หรือศูนย์เครือข่าย ศพก. เป็นลูกค้าสินเชื่อกับทาง ธ.ก.ส. โดยเกษตรกรจะได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ HandySense ในโรงเรือน หรือแปลงเพาะปลูกแบบเปิด ประกอบด้วย อุปกรณ์ sensor (วัดความเข้มแสง วัดความชื้นดิน วัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์) แผงวงจร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โซลินอย์วาล์ว อุปกรณ์วาล์ว และการให้น้ำระบบท่อ ตู้คอนโทรลและอุปกรณ์ แอปพลิเคชั่น และการฝึกอบรมการติดตั้ง การใช้งานซ่อมบำรุงอุปกรณ์ และการใช้งานแอปพลิเคชั่น
ส่วนเงื่อนไขและคุณสมบัติของศูนย์ปฏิบัติการ ที่ผ่านการคัดเลือกที่สำคัญ คือ 1) ความพร้อมของแปลงเรียนรู้ของศูนย์ปฏิบัติการ เป็นโรงเรือน หรือ แปลงเพาะปลูก ขนาดไม่เกิน 5 ไร่ มีระบบการให้น้ำแบบท่อส่งน้ำในโรงเรือนหรือในแปลงเพาะปลูก ติดตั้งพร้อมใช้งาน มีแหล่งน้ำและระบบการให้น้ำแบบท่อส่งน้ำ รวมถึงปั๊มน้ำในโรงเรือนหรือในแปลงเพาะปลูก มีระบบไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต พร้อมที่จะสามารถเชื่อมต่อหรือใช้งานในพื้นที่ติดตั้งได้ 2) ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการ ต้องพร้อมที่จะเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดความรู้ของระบบเกษตรอัจฉริยะ โดยทำหน้าที่เป็นวิทยากร และเป็นแกนนำในการเผยแพร่การนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรให้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เกษตรกรและชุมชนโดยรอบต่อไปได้ โดยศูนย์ปฏิบัติการจะได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ HandySense ประกอบด้วย อุปกรณ์ sensor (วัดความเข้มแสง วัดความชื้นดิน วัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์) แผงวงจร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แอปพลิเคชั่น การฝึกอบรมการติดตั้ง การใช้งาน ซ่อมบำรุงอุปกรณ์ และการใช้งานแอปพลิเคชั่น
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายผลนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ โดยจะมีการสนับสนุนทั้งงานวิชาการและแหล่งทุน ไปสู่เกษตรกร โดยการสร้างต้นแบบแปลงเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรต้นแบบและเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้และทักษะเพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนต่อไป