กรมส่งเสริมการเกษตรจัดงานรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น พื้นที่ภาคตะวันออก และนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ปี 2565 เผยผลการดำเนินงานมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 47 ลดการเผาลงได้จริง
นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรจัดงานรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ปี 2565 ณ แปลงสาธิตศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรลดการเผาในพื้นที่การเกษตร และปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรมาทำการเกษตรแบบปลอดการเผา โดยการสร้างและพัฒนาเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา เพื่อเร่งรัด จัดการ และแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2547 ปัจจุบันได้กำหนดแนวทางสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาโดยใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หรือศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) หรือกลุ่มเกษตรกรให้ได้ 294 เครือข่ายในพื้นที่ 60 จังหวัด พร้อมจัดอบรมหลักสูตรถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้สามารถเป็นวิทยากรด้านการทางการเกษตรปลอดการเผา นำเสนอทางเลือกและสาธิตการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและสร้างจิตสำนึกของเกษตรกรให้ยอมรับ การทำการเกษตรแบบปลอดการเผา รวมทั้งจัดกิจกรรมนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา หรือส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเพื่อแก้ปัญหาการเผาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะพิจารณาใช้เทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผาที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่
สำหรับกิจกรรมภายในงานรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น ซึ่งจัดขึ้นที่แปลงสาธิตศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา มีกิจกรรมสร้างการรับรู้ และกิจกรรมเสนอทางเลือกลดการเผา ดังนี้ 1) การบรรยายความรู้เรื่องการแก้ปัญหาและมาตรการป้องกันและผลกระทบจากการเผาต่อสุขภาพ และแจกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร และการจัดการเศษวัสดุทดแทนการเผา ได้แก่ การไถกลบทดแทนการเผา การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ฯลฯ 2) กิจกรรมสาธิตการฉีดพ่นน้ำหมัก และการไถกลบตอซัง 3) ฐานเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักจากวัสดุการเกษตร น้ำหมักย่อยสลายตอซัง และการใช้ประโยชน์จากวัสดุทางการเกษตร “การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า” “การทำแซนวิชอาหารปลา” และการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร 4) การให้บริการตรวจวัดอุณหภูมิ และตรวจสารเคมีในเลือด และ 5) การจำหน่ายผลผลิตผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรในท้องถิ่น
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เสื่อมโทรม ส่งผลต่อการผลิตพืชของเกษตรกร และยังเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ ก่อให้เกิดก๊าซพิษ หมอกควันสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรง ซึ่งผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2564 จากการสำรวจจากดาวเทียม TERRA และ AQUA ระบบ MODIS ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2564 โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (Gistda) พบจุดความร้อน (Hotspot) ในประเทศไทยลดลง คิดเป็นร้อยละ 51.71 คือปี 2564 จำนวน 12,705 จุด ปี 2563 จำนวน 26,310 จุด ซึ่งจุดความร้อนอยู่ในพื้นที่การเกษตร ลดลงร้อยละ 47.17 คือปี 2564 จำนวน 3,320 จุด ปี 2563 จำนวน 6,285 จุด ในขณะที่พื้นที่ภาคตะวันออก 9 จังหวัด ก็มีแนวโน้มจุด Hotspot ลดลงต่อเนื่อง คือพบ Hotspot ปี 2563 จำนวน 1,471 จุด และปี 2564 จำนวน 1,057 จุด จากพื้นที่การเกษตรรวม จำนวน 10,506,992 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 2,224,707 ไร่ ยางพารา 2,042,592 ไร่ ไม้ผล 1,172,571 ไร่ มันสำปะหลัง 898,990 ไร่ และอื่น ๆ 1,145,936 ไร่