นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก กำหนดจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) จังหวัดนครนายก ประจำปี 2565 ขึ้น ณ แปลงใหญ่มะยงชิดตำบลศรีกระอาง หมู่ที่ 5 ตำบลศรีกะอาง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ให้กับเกษตรกรได้เข้ามาเรียนรู้จากของจริง และสามารถนำความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต มีผลผลิตที่มีคุณภาพที่ได้รับไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่ออาชีพของตนเอง สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิต และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นมีความมั่นคงยั่งยืนต่อไป โดยในปีนี้จังหวัดนครนายกได้เลือกมะยงชิด เป็นพืชหลักของการจัดงาน เนื่องจากเป็นสินค้าแปลงใหญ่และเป็นสินค้าอัตลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัด
สำหรับกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ภายในงานประกอบด้วย สถานีเรียนรู้ จำนวน 4 สถานี คือ 1)เกษตรอัจฉริยะในสวนไม้ผลและนวัตกรรมในการผลิตมะยงชิด 2) การป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืชในแปลงมะยงชิด 3) การดูแลมะยงชิดระยะออกดอก – ติดผล และ 4) การเพิ่มมูลค่าผลผลิตและการตลาดออนไลน์สินค้าเกษตร นอกจากนี้ยังมีการแสดงนิทรรศการและการให้บริการด้านการเกษตร ของหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนและการแสดงและจำหน่ายสินค้าของกลุ่มแปลงใหญ่,Smart Farmer, Young Smart Farmer, สถาบันเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนด้วย
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) จัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรกรก่อนฤดูกาลผลิตใหม่ ทั้งการสนับสนุนให้เกษตรกรมีความรู้ สามารถวางแผนการผลิต เข้าถึงปัจจัยการผลิต บริหารจัดการความเสี่ยง และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ โดยการเรียนรู้จากแปลงต้นแบบ การเรียนรู้จากเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต และพัฒนาคุณภาพของผลผลิต ภายใต้แนวคิดในการถ่ายทอดความรู้แบบเห็นของจริง
ทั้งนี้ จังหวัดนครนายกแบ่งเขตการปกครองเป็น 4 อำเภอ 41 ตำบล 408 หมู่บ้าน มีพื้นที่ทั้งหมด 1.32 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตร 683,279 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว 508,651 ไร่ มะยงชิด 7,956 ไร่ มะปรางหวาน 2,237 ไร่ ส้มโอ 2,011 ไร่ ทุเรียน 1,477 ไร่ กระท้อน 649 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 4,450 ไร่ ยางพารา 1,235 ไร่ และไม้ดอกไม้ประดับ 2,177 ไร่ และพื้นที่การเกษตรอื่น ๆ 152,436 ไร่