กรมส่งเสริมการเกษตร เน้นย้ำมาตรการป้องกันทุเรียนอ่อน และ Zero COVID สร้างความเข้าใจในระดับสวนเกษตรกร

      นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า  กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดแนวทางมาตรการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID – 19 ระดับสวนเกษตรกร เพื่อใช้เป็นมาตรฐานให้ทุกสวนผลไม้ส่งออกได้ยึดถือปฏิบัติ และเป็นแนวทางให้ทุกฝ่ายได้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้มาตรการเตรียมความพร้อมรองรับผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกปี 2565  รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการส่งออกผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2565 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำหนดเป้าหมายไว้ว่า “การส่งออกผลไม้ต้อง Zero COVID เท่านั้น”  เพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออก สร้างความเชื่อมั่นสู่ผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่เป็นตลาดส่งออกหลัก ซึ่งในฤดูกาลผลไม้ปีนี้ จีนในฐานะประเทศคู่ค้าสำคัญของผลไม้ของภาคตะวันออกได้กำหนดไว้ว่าต้องตรวจไม่พบเชื้อ COVID -19 ทั้งในคน ผลไม้ และองค์ประกอบอื่นในการขนส่ง โดยมาตรการระดับสวนเกษตรกรประกอบด้วย 1) มีจุดตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย อย่างน้อย 1 จุด 2) มีจุดล้างมือพร้อมน้ำยาล้างมือหรือเจล/สเปรย์แอลกอฮอล์ อย่างน้อย 1 จุด 3) มีแนวกั้นบริเวณอาณาเขตของสวน และมีจุดเข้าออกทางเดียว 4) การเข้าออกของแรงงานและคนในสวน ห้ามไม่ให้แรงงานของสวนออกจากสวน หรือถ้ามีการออกจากสวนต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิหรือมีมาตรการดำเนินการอื่นๆ 5) การเข้าออกของบุคคลภายนอก ห้ามบุคคลภายนอกเข้าออกสวนโดยไม่มีความจำเป็น และถ้ามีการเข้าออกต้องผ่านการคัดกรอง และมีการจดบันทึกทั้งคนและรถที่ผ่านเข้าออก 6) ให้แรงงานและผู้เกี่ยวข้องในสวนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม 7) มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและทุกคน 8) มีการตรวจ ATK ทุก 7 วัน ทั้งเจ้าของสวนและแรงงาน และคนเข้าออกสวนต้องมีใบรับรองผลตรวจ ATK 9) สวมถุงมือที่สะอาดในขณะที่มีการปฏิบัติงานในสวน 10) ต้องมีการเว้นระยะห่างของบุคคล อย่างน้อย 1 เมตร และ 11) มีการจดบันทึกทุกขั้นตอนในแต่ละวัน ได้แก่ การเข้าออกสวน ผลตรวจ ATK  การวัดอุณหภูมิ การฉีดวัคซีน เป็นต้น

      ด้านแนวทางและวิธีการการควบคุมป้องกันแก้ไขทุเรียนอ่อนภาคตะวันออกปี 2565 (ระดับสวนเกษตรกร) กำหนดให้ยึดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออก ปี 2565 จำนวน 3 รุ่นตามสายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์กระดุม วันที่ 20 มีนาคม 2565 พันธุ์ชะนีและพวงมณี วันที่ 20 เมษายน 2565 พันธุ์หมอนทองและก้านยาว วันที่ 25 เมษายน 2565  หากเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ประกาศ ต้องมีการรับรองความแก่ทุเรียน โดยผู้แทนแปลงใหญ่ที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานเกษตรอำเภอจะเป็นผู้ดำเนินการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียน ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้ 1) เกษตรกร หรือมือตัด รับแบบแจ้งความประสงค์เก็บเกี่ยวทุเรียนได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือจุดที่สำนักงานเกษตรอำเภอกำหนด พร้อมทั้งกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มในส่วนของเกษตรกรให้รับรองว่าเป็นผลผลิตจากสวนของตนเอง สำหรับมือตัดให้เกษตรกรรับรองว่าเป็นผลผลิตของตนเอง โดยอาจมีกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านร่วมรับรองด้วย 2) ก่อนการเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 2 วัน นำผลผลิตตัวอย่าง (ทุเรียน 1 ผล) มาตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำนักแห้งเนื้อทุเรียน ตามจุดที่กำหนด 3) ผู้แทนแปลงใหญ่/ผู้แทนเกษตรกรที่ได้รับมอบหมาย หรือเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้ตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งเนื้อทุเรียน 4) เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้เซ็นรับรองและออกใบรับรองความแก่ และ 5) เกษตรกร/มือตัดแนบใบรับรองความแก่ไปกับรถขนส่งทุเรียนไปที่โรงคัดบรรจุต่อไป

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการทั้งหมดที่ได้เน้นย้ำให้เกษตรกรปฏิบัตินั้นจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในด้านการส่งออกผลไม้ของประเทศไทยให้มีความเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกสวน และได้ผลผลิตทุเรียนที่ปลอดภัยสู่มือผู้บริโภคอย่างแท้จริง ทั้งนี้ หากเกษตรกรมีข้อสงสัยสามารถขอคำแนะนำหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน

********************************************

พีรมณฑ์, กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : ข่าว 

สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จ.ระยอง : ข้อมูล กุมภาพันธ์ 2565