นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีความห่วงใยในเรื่องคุณภาพของทุเรียนในภาคตะวันออกซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่และกำลังให้ผลผลิตอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะการเร่งตัดทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ในช่วงต้นฤดูกาลเพื่อจำหน่ายทำกำไร ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อราคาทุเรียนทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อทุเรียนไทยในสายตาผู้บริโภค รวมทั้งเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเมื่อถูกกดราคาจากผู้รับซื้อ จึงได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อน ภายใต้การกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยร่วมกันวางมาตรการเพื่อควบคุมและป้องกันปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) พร้อมจัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อช่วยกันสกัดกั้นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน)ในจังหวัดแหล่งผลิตที่สำคัญ คือ จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด พร้อมมอบหมายให้สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ให้บริการตรวจสอบความสุกแก่ของทุเรียนให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนดด้วย
สำหรับเกษตรกรและมือตัดทุเรียนที่มีความประสงค์เก็บเกี่ยวทุเรียนก่อนวันเก็บเกี่ยวที่ประกาศ คือ พันธุ์กระดุม กำหนดเก็บเกี่ยววันที่ 20 มีนาคม 2565 พันธุ์ชะนีและพวงมณี วันที่ 10 เมษายน 2565 และพันธุ์หมอนทอง วันที่ 25 เมษายน 2565 ให้แจ้งความประสงค์เก็บเกี่ยวได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ตั้งแปลง หรือสถานที่อื่นตามที่กำหนด พร้อมนำตัวอย่างทุเรียนในแปลงที่จะเก็บเกี่ยว จำนวน 1 ผล ไปตรวจหาเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนอย่างน้อย 2 วัน ก่อนเก็บเกี่ยว โดยยึดเกณฑ์ดังนี้ พันธุ์กระดุม เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนต้องได้ 27 % ขึ้นไป พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี 30% ของน้ำหนักแห้งขึ้นไป พันธุ์หมอนทอง 32% ของน้ำหนักแห้งขึ้นไป หากตรวจพบเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่าที่ประกาศให้ถือว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ต้องเว้นระยะ 3 วัน จึงจะสามารถนำมาขอตรวจซ้ำได้ โดยจะรับแจ้งความประสงค์ตั้งแต่ก่อนวันเก็บเกี่ยวไปจนถึงวันที่ 25 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันเก็บเกี่ยวพันธุ์หมอนทอง ในส่วนของทุเรียนที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว สำนักงานเกษตรอำเภอจะออกใบรับรองเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนเฉพาะตัวอย่างแนบไปกับรถขนส่งทุเรียนเข้าโรงคัดบรรจุ เพื่อคุมเข้มสกัดกั้นไม่ให้ทุเรียนอ่อนออกนอกพื้นที่
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรและมือตัดทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออก ในการนำตัวอย่างทุเรียนที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวก่อนวันเก็บเกี่ยวที่ประกาศไว้ มาตรวจหาเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนอย่างเคร่งครัด เพื่อร่วมกันควบคุมและป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ซึ่งในปีที่ผ่านมาพบว่ามาตรการดังกล่าวเกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สามารถควบคุมทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ได้ในระดับที่น่าพอใจเนื่องจากเห็นว่าเป็นแนวที่ดีที่จะทำให้ทุเรียนมีคุณภาพมากขึ้น และมีตลาดรองรับในอนาคต
*******************************************
พีรมณฑ์, กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : ข่าว
สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี : ข้อมูล มีนาคม 2565