เกษตรหนุนพัฒนากระเทียมน้ำปาดทั้งระบบ ชี้ผลผลิตปีนี้แค่ 84 ตัน ดันราคากระเทียมโทนพุ่งสูงถึง กก.ละ 500 บาท

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ถือเป็นแหล่งปลูกกระเทียมที่สำคัญของประเทศ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะที่อำเภอน้ำปาด ซึ่งเป็นแหล่งปลูกปลูกกระเทียมพันธุ์ไทยแท้ที่เกษตรกรเรียกว่า พันธุ์ดอ หรือที่ผู้บริโภคต่างรู้จักในชื่อ กระเทียมน้ำปาด โดยมีคุณสมบัติเด่น คือ หัวกระเทียมเป็นสีชมพูอมม่วง มีค่าสารอินทรีย์กำมะถันสูงถึง 1.543 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในประเทศ รวมทั้งมีกลิ่นฉุน เปลือกบาง เมื่อแห้งจะแกะง่าย ขนาดของกลีบจะใหญ่แกร่ง ไม่ฝ่อง่าย กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เข้าไปดำเนินการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกอย่างต่อเนื่อง เช่น การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูก การสนับสนุนองค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งการผลิตและการตลาด ในการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิต เช่น ผ่านเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com เป็นต้น โดยปีการผลิต 2564/65 นี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ รายงานว่า มีพื้นที่ปลูกรวม 87 ไร่ จากเกษตรกร 27 ครัวเรือน มีผลผลิตรวม 84 ตัน (วันที่ข้อมูล ณ วันที่ 7 มีนาคม 65)

   ด้าน นายพัฒนศักดิ์ พ่วงสมบัติ เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ และสำนักงานเกษตรอำเภอน้ำปาด ได้ดำเนินการเข้าไปส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรตามนโยบายของ นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เช่น การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ได้มีการแจ้งประชาสัมพันธ์ในเวทีการประชุมประจำเดือนในระดับอำเภอ ทั้ง การประชุมหัวหน้าส่วนราชการอำเภอ น้ำปาด และการประชุมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านอำเภอน้ำปาด ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเกษตรกร จนนำมาสู่การมีข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถใช้กำหนดนโยบายส่งเสริมและพัฒนา รวมถึงการด้านการผลิตการตลาด

   นายพัฒนศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า เกษตรกรของอำเภอน้ำปาด ได้เริ่มปลูกกระเทียมช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 และเก็บเกี่ยวผลผลิตเดือนมีนาคม 2565 รวมระยะเวลาทั้งหมด 120 วัน ปัจจุบันได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วร้อยละ 70 รวม 58 ตัน คงเหลืออีกร้อยละ 30 รวม 26 ตัน คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในช่วงปลายนี้ ส่วนราคาจำหน่าย ถ้าเป็นกระเทียมสด อยู่ที่กิโลกรัมละ 35 บาท กระเทียมแห้ง อยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพึงพอใจ

   “นอกจากจำหน่ายในรูปกระเทียมสดและแห้งแล้ว เกษตรกรยังมีรายได้เสริมจากการเก็บกระเทียมโทน และหำกระเทียมจำหน่าย โดยกระเทียมโทน เป็นกระเทียมที่หายาก เกิดจากการเติบโตไม่สมบูรณ์ ไม่มีการแตกกลีบ เป็นผลผลิตที่ตลาดมีความต้องการสูง ด้วยมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ บำรุงร่างกาย หากใช้ปรุงในอาหาร จะช่วยดับกลิ่นคาว และเพิ่มรสเผ็ดอ่อน ๆ ส่วนหำกระเทียม เป็นชื่อเรียก ลูกกระเทียมขนาดเล็กที่อยู่บนปลายของหัวกระเทียม ซึ่งเชื่อว่า เป็นจุดสะสมฮอร์โมนการเจริญพันธุ์ ถือเป็นคลังยาที่กระเทียมใช้ดูแลชีวิต เป็นอีกผลผลิตที่หายาก และมีราคาสูง โดยกระเทียมแห้ง 1,000 กิโลกรัม จะแยกหำกระเทียมได้เพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น และผู้บริโภคที่สนใจ ต้องสั่งจองล่วงหน้าเท่านั้น” เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าว

   ขณะที่ นายรัตน์ นาคหอม เกษตรกรปลูกกระเทียมน้ำปาด กล่าวว่า สำหรับปี 2565 นี้ ปลูกกระเทียมรวม 4 ไร่ ได้ผลผลิตกว่า 3 ตัน แต่ได้กระเทียมโทนเพียง 6 ขีดเท่านั้น โดยราคาที่จำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 500 บาท ในขณะที่กระเทียมสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 บาท ทั้งนี้ การจะได้กระเทียมโทนนั้น ต้องลงแรงในการค้นหาและคัดแยก เพราะจะขึ้นปะปนอยู่ในแปลงปลูก โดยลูกค้าที่สั่งซื้อส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย ด้วยมีความเชื่อส่วนบุคคลว่า มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย

   ทั้งนี้ สำหรับผู้บริโภคที่สนใจ และต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระเทียมน้ำปาด ติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ หรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอน้ำปาด ตั้งอยู่เลขที่ 4/7 ถนนเพชรรานุรักษ์ ตำบลแสนตอ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ โทร. 0-5548-1006