นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงผลสำเร็จของโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ในงานแถลงข่าว “OSS เคสดี ต้องมีโชว์” ว่า ผลการดำเนินการของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีในการทำการเกษตรสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเกษตรกรจำนวน 108,036 ราย จาก 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด พื้นที่ 1.3 ล้านไร่ ได้รับประโยชน์ ปริมาณการใช้ปุ๋ยลดลง 59,047.37 ตัน คิดเป็นร้อยละ 49 สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีเฉลี่ยในพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 36.91 คิดเป็นมูลค่ามากถึง 244 ล้านบาท และเพิ่มผลผลิตได้จริง โดยผลผลิตของเกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และเกิดการจ้างงานในธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน ประมาณ 2,600 คน ทั้งนี้ ในด้านการให้บริการเชิงธุรกิจ ศดปช. ทั้ง 394 แห่ง ได้จดทะเบียนผู้ขายปุ๋ย เพื่อให้สามารถจำหน่ายปุ๋ยให้กับเกษตรกรทั่วไปได้ ได้ให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน มีเกษตรกรใช้บริการ จำนวน 114,041 ราย มีการจำหน่ายแม่ปุ๋ย 82,109 กระสอบ และมีการให้บริการผสมปุ๋ยรวม 4,099,909 กิโลกรัม
นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) จะมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของสมาชิกเครือข่าย รวมถึงเกษตรกรทั่วไปให้สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ แนวทางการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ “4 ถูก ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา ถูกวิธี” ให้กับเกษตรกรอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) เพื่อให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการใน 3 ด้าน ได้แก่
1) จัดอบรม ดำเนินการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเทคนิคและการบริหารธุรกิจ พบว่ามีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมกว่า 12,325 ราย จากเป้าหมาย 11,820 ราย คิดเป็นร้อยละ 104.27 และจัดเวทีเชื่อมโยงเครือข่าย ศดปช. ศพก. และ แปลงใหญ่ มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมกว่า 8,379 ราย จากเป้าหมาย 7,880 ราย คิดเป็นร้อยละ 106.32
2) สนับสนุนวัสดุการเกษตรและครุภัณฑ์ แม่ปุ๋ย 3 สูตร และเครื่องผสมปุ๋ยเคมี สนับสนุนชุดตรวจวิเคราะห์ดิน หรือ Soil test kit จำนวน 3,940 ชุด ในการให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินแก่เกษตรกรสมาชิก ศดปช. แปลงใหญ่ และเกษตรกรในชุมชน โดยให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินและให้คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยแล้ว 114,041 ราย คิดเป็นร้อยละ 106.41 เมื่อเทียบกับเป้าหมาย สนับสนุนแม่ปุ๋ย 3 สูตร ได้แก่ สูตร 46-0-0, สูตร 18-46-0 และ สูตร 0-0-60 รวมจำนวน 47,280 กระสอบ ซึ่งเกษตรกรมีการจำหน่ายแม่ปุ๋ยแล้ว 82,109 กระสอบ คิดเป็นร้อยละ 173.67 เมื่อเทียบกับจำนวนปุ๋ยที่สนับสนุน ซึ่งมีการต่อยอดจากที่ภาครัฐสนับสนุน และสนับสนุนเครื่องผสมปุ๋ยเคมี จำนวน 394 เครื่อง ซึ่งให้บริการผสมปุ๋ยแล้ว 4,099,909 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 173.43 เมื่อเทียบกับปริมาณปุ๋ยที่สนับสนุน
3) พัฒนา แอปพลิเคชัน “รู้ดิน รู้ปุ๋ย” เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกเกษตรกรให้ได้รับคำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยอย่างรวดเร็ว และยังสามารถคำนวณต้นทุนและผลผลิตเปรียบเทียบกับการใช้ปุ๋ยตามวิธีการเดิมของเกษตรกรได้ และสามารถสั่งจองปุ๋ยผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนได้อีกด้วย รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรสามารถนำข้อมูลผลการวิเคราะห์ดินมาใช้ประกอบการวางแผนการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ให้มีข้อมูลทางวิชาการดินปุ๋ยที่ถูกต้อง แม่นยำ ทำให้เจ้าหน้าที่เป็น Smart Extensionist นำความรู้ที่ได้ไปแนะนำส่งเสริมให้สมาชิก ศดปช. หรือเกษตรกร เป็น Smart farmer มีความรู้ในจัดการดินปุ๋ยที่ถูกต้อง และสนับสนุนให้ ศดปช. ทำธุรกิจ บริการดินปุ๋ยในชุมชนได้ด้วยตัวเองจนเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน และจากข้อมูล ณ วันที่ 6 เมษายน 2565 มีผู้สนใจใช้บริการมากกว่า 32,974 คน
“โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน หรือ One Stop Service จะช่วยต่อยอดให้ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน หรือ ศดปช. สามารถเป็นหน่วยบริการดินและปุ๋ยของชุมชนได้อย่างแท้จริง ทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และให้บริการด้านดินและปุ๋ยของชุมชน เพื่อการขยายผลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและความต้องการของพืช ซึ่งนำไปสู่การเกษตรแม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะต้นทุนอันเนื่องจากการใช้ปุ๋ยเคมี ลดรายจ่าย สร้างรายได้ให้เกษตรกร และทำให้ ศดปช. ที่กรมส่งเสริมการเกษตรจัดตั้งขึ้น เป็นหน่วยบริการด้านดินและปุ๋ยของชุมชนที่มีเข้มแข็ง สามารถทำธุรกิจ โดยมีรายได้หมุนเวียนจากการตรวจวิเคราะห์ดิน จำหน่ายปุ๋ย และบริการผสมปุ๋ย รวมทั้งสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการลดการพึ่งพาการอุดหนุนจากภาครัฐ” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว