วันนี้ (8 เมษายน 2565) ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมด้วย นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดตัวโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและขยายกระท่อมพันธุ์ดี แจกจ่ายกระท่อมพันธุ์ดี รวมแล้วกว่า 2 แสนต้น ให้เกษตรกร ผ่านศูนย์ขยายพันธุ์พืช ของกรมส่งสริมการเกษตร ทั้ง 10 ศูนย์ ทั่วประเทศ หวังให้เป็นพืชสมุนไพรใช้ในครัวเรือน
ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากความต้องการพืชกระท่อมของเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำโครงการผลิตและขยายต้นกล้ากระท่อมพันธุ์ดี ผลิตกระท่อมโดยการนำเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อมาเพาะเลี้ยงด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อเพาะพันธุ์กระท่อมพันธุ์ดีไว้เป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อใช้ในครัวเรือน และสามารถนำไปพัฒนาอาชีพเป็นพืชทางเลือกในอนาคต ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน ตลอดจนเป็นการพัฒนานวัตกรรมการผลิตและขยายกระท่อมพันธุ์ดีสำหรับรองรับความต้องการในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2564 พร้อมต่อยอดการเรียนรู้และขับเคลื่อนไปสู่การผลิตพืชเชิงพาณิชย์หรือเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือก
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและขยายกระท่อมพันธุ์ดี โดยศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 1 จังหวัดชลบุรี ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 5 จังหวัดบุรีรัมย์ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดมหาสารคาม ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 8 จังหวัดลำพูน ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี และศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี ได้ดำเนินการผลิตต้นกล้ากระท่อมพันธุ์ดี รวมทั้งสิ้น 210,000 ต้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนต้นกล้ากระท่อมพันธุ์ดีพร้อมองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตและขยายพืชกระท่อมพันธุ์ดีภายในชุมชน รายละ 3 ต้น จำนวน 30 รายต่อศูนย์ ทั้ง 882 ศูนย์ทั่วประเทศไทย รวมจำนวน 79,380 ต้น สมาชิก ศพก.ที่ได้รับการสนับสนุน จำนวน 26,460 รายและสนับสนุนให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชน/Young Smart Farmer/ Smart Farmer/อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน หน่วยงานราชการที่มีภารกิจในการส่งเสริมอาชีพการเกษตรและประชาชนที่สนใจ จำนวนทั้งสิ้น 130,620 ต้น โดยสามารถติดต่อขอรับต้นกล้ากระท่อมพันธุ์ดีได้ ณ จุดบริการพืชพันธุ์ Doae ศูนย์ขยายพันธุ์พืชใกล้บ้านท่าน รายละ 3 ต้น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนกว่าของจะหมด
การขยายพันธุ์พืชกระท่อมมีอยู่หลายวิธี ได้แก่ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การปักชำ การเสียบยอด และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชนั้นเป็นวิธีที่ได้ต้นพันธุ์ที่ปลอดเชื้อ สามารถขยายเพิ่มจำนวนได้ปริมาณมากในระยะเวลาอันสั้น โดยนิยมใช้ส่วนเนื้อเยื่อเจริญของพืช ได้แก่ ตายอด และตาข้าง อย่างไรก็ตาม สำหรับพืชกระท่อมนั้น การใช้ตายอด ตาข้าง เป็นชิ้นส่วนในการเข้าเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จะพบการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียค่อนข้างมาก กองขยายพันธุ์พืช โดยศูนย์ขยายพันธุ์พืชจึงได้ทดสอบการเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อ ด้วยการนำเมล็ดกระท่อมมาฟอกฆ่าเชื้อ และเพาะเมล็ดบนอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พบว่ามีการปนเปื้อนที่น้อย ต้นพันธุ์มีความสมบูรณ์ สามารถคัดเลือกต้นพันธุ์ที่ดีไปขยายต่อได้ โดยเมื่อต้นพันธุ์เจริญเติบโตได้ระยะหนึ่งจึงตัดขยายเพิ่มจำนวนจนได้ปริมาณ ตามที่ต้องการ และตัดย้ายลงในอาหารสูตรชักนำราก ก่อนนำไปอนุบาลจนพร้อมปลูกในสภาพธรรมชาติต่อไป โดยผลกลุ่ม 1 ผล จะได้ต้นพันธุ์พร้อมปลูก จำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 ต้น ใช้ระยะเวลาในการเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อ 5 – 7 เดือน และระยะอนุบาลจนพร้อมปลูก 3 เดือน รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 10 เดือน สำหรับการปลูกนิยมปลูกระยะชิดเพื่อให้ได้จำนวนต้นต่อพื้นที่ปริมาณมากร่วมกับการปลูกพืชอื่นในระยะแรกเพื่อเป็นร่มเงา เช่น กล้วย โดยขุดหลุม กว้าง x ยาว x ลึก ประมาณ 50 x 50 x 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟต ประมาณ 200 กรัม และนำดินชั้นบนผสมกับปุ๋ยหมักใส่ภายในหลุม คลุมโคนด้วยวัสดุคลุมดิน เช่น เศษหญ้าแห้ง ทะลายปาล์มเก่า เป็นต้น นำไม้ค้ำต้น ทำมุม 45 องศากับพื้นดินเพื่อช่วยพยุงต้น รดน้ำ 5 – 10 ลิตร/สัปดาห์ในช่วงแรกของการปลูก แนะนำให้ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 150 กรัมต่อต้น และสูตร 46-0-0 อัตรา 50 กรัมต่อต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน และเพิ่มปริมาณปุ๋ยปีละประมาณร้อยละ 25 ของปีก่อนหน้า ผู้ปลูกสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังจากปลูก 1 – 15 ปี โดยเก็บใบคู่ที่ 3 และ 4 นับจากยอด เว้นคู่ที่ 1 และ 2 ไว้ โดยจะสามารถเก็บเกี่ยวรอบต่อไปได้ในอีก 10 วัน นับจากเก็บเกี่ยวครั้งก่อนหน้า ซึ่งน้ำหนักสดเฉลี่ยประมาณ 15 กรัม/ใบ หรือประมาณ 600 ใบ/กิโลกรัม