นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดให้มีการประชุมเชื่อมโยงการดำเนินงานของคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และแปลงใหญ่ ระดับประเทศ ครั้งที่ 2/2565 ขึ้น เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการดำเนินงานของทั้งสองเครือข่ายอย่างเป็นรูปธรรม สามารถใช้ ศพก. เป็นฐานเรียนรู้และเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้กับกลุ่มแปลงใหญ่ ตลอดจนเป็นที่บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ที่จะเข้าเป็นสมาชิกแปลงใหญ่ได้อย่างแท้จริง โดยมีที่ปรึกษาและคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ และ ศพก. ระดับประเทศ รวม 20 คน เข้าประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องของกรมส่งเสริมการเกษตร ณ ห้องประชุมสำนักงานส่งเสริมและพัฒนากรเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ ในการนี้ยังได้รับเกียรติจากคณะกรรมาธิการการเกษตร และสหกรณ์ วุฒิสภา เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมฯ ด้วย
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดให้มีกิจกรรมศึกษาดูงานความสำเร็จของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง ศพก. แห่งนี้ถือเป็นศูนย์หลักมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในรูปแบบของการทำเกษตรผสมผสานที่สามารถสร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืน ทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ประมง และการแปรรูป รวมถึงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยจุดเด่นของ ศพก. แห่งนี้ คือ การพัฒนาและต่อยอด ศพก. ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีการเชื่อมโยงกิจกรรมการเกษตรในพื้นที่ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนสู่ชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ศพก. และเครือข่าย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
ด้าน นายไพรัตน์ ธาตุอินจันทร์ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอดอยสะเก็ด กล่าวว่า ศพก. อ.ดอยสะเก็ด หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า “แบ่งปัน ฟาร์ม (Pan’s Farm)” โดยได้นำนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาเป็นหลักดำเนินงาน โดยกำหนดวิสัยทัศน์ว่า “นำตลาดสู่ฟาร์ม ตลาดนำการผลิต” ซึ่งหมายถึงการยกตลาดเกษตรมาไว้ที่บ้านเกษตรกร และเมื่อผลิตแล้วต้องมีที่ขาย
“บนพื้นที่ 70 ไร่ ได้เน้นทำเกษตรแบบผสมผสาน ด้วยการปลูกพืชที่หลากหลาย ทั้งทุเรียน มังคุด ลองกอง มะปราง มะยงชิด มะขาม มะละกอ มะนาว กล้วยน้ำว้า ปลูกกาแฟ ปลูกผักในโรงเรือนในลักษณะผักปลอดสารพิษ อีกทั้งยังมีการลดต้นทุนการผลิตด้วยการทำปุ๋ยหมัก ทำน้ำหมักสมุนไพรไล่แมลง และปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ การผลิตขยาย สารชีวภัณฑ์ เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชขึ้นใช้เองในฟาร์ม นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงโคขุน การเลี้ยงไก่อารมณ์ดี การเลี้ยงปลาในบ่อดิน รวมถึงการเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยการนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูป เช่น กระเทียม มะม่วง มะเขือเทศ กระเทียม ผักกาดเขียวปลี เป็นต้น และเปิดร้านจำหน่ายกาแฟ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และสร้างเครือข่าย การท่องเที่ยวอีกด้วย” นายไพรัตน์ กล่าว