กรมส่งเสริมการเกษตร ชูแปลงใหญ่ทุเรียนวังโตนดเจ๋ง ผลิตทุเรียนเกรด A-B ได้ร้อยละ 80 พร้อมเสริมมาตรการ Zero Covid อย่างเข้มข้น


นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อยกระดับเกษตรกร โดยนำหลักเกษตรสมัยใหม่มาบริหารจัดการร่วมกับการเชื่อมโยงตลาดในยุคปัจจุบัน เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ตามโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ตามนโยบายสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจัดทำโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่มีการบริหารจัดการร่วมกัน โดยให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน ผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มในการผลิตเพื่อร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี ราคาถูก และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม ซึ่งหนึ่งในแปลงตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการยกระดับการบริหารจัดการแปลง คือแปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ที่ 6 ตำบลวังโตนด อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี ที่ได้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดกับกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2563 จนสามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ ผลิตทุเรียนเกรด A และ B ได้ถึงร้อยละ 80 และปลอดทุเรียนอ่อนร้อยละ100 

ด้าน นายมณี ภาระเปลื้อง ประธานแปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ที่ 6 ตำบลวังโตนด กล่าวว่า ปัจจุบันแปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ที่ 6 ตำบลวังโตนด มีสมาชิกจำนวน35 ราย พื้นที่ปลูกทุเรียนรวม 300 ไร่ ผลผลิตโดยเฉลี่ยต่อปีประมาณ 500 ตัน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ปีละประมาณ 35 ล้านบาท จากการที่เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดกับกรมส่งเสริมการเกษตรถือว่าสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรสมาชิกเป็นอย่างมาก เพราะทำให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ สามารถส่งผลผลิตเพื่อการส่งออกได้อย่างยั่งยืน ด้วยการนำเครื่องจักรมาช่วยในขั้นตอนการลดต้นทุนการผลิต ลดปัญหาแรงงานและการพัฒนาคุณภาพผลผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการทั้งตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ รวมทั้งค้นคว้านำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ควบคู่กับการทำการเกษตร พร้อมกับมีการปรับตัวแก้ไขปัญหาและพัฒนาการบริหารการจัดงานสวนให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุดภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

แปลงใหญ่ทุเรียนแห่งนี้สามารถสร้างผลผลิตทุเรียนเป็นเกรด A และ B ได้ถึงร้อยละ 80 ด้วยการใช้เทคโนโลยี ร่วมกับวิธีการตัดแต่งผล และการไว้ผลใกล้ด้านบนของต้น/ปลายกิ่ง (โรงอาหาร) เพื่อเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ซึ่งประสบผลสำเร็จทำให้ผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และลดอัตราผลผลิตที่เป็นตำหนิ และเลือกเก็บเกี่ยวเฉพาะผลทุเรียนที่แก่จัดเท่านั้น โดยนอกจากการสังเกตุลักษณะผลแล้ว ยังใช้วิธีการนับอายุทุเรียน เพื่อให้ปลอดทุเรียนอ่อน 100%และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID – 19 ระดับสวนเกษตรกร หรือ  Zero Covid อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เกษตรกรผู้ปลูกทุกเรียนทุกคนต้องดำเนินการ เพราะในฤดูกาลผลไม้ปีนี้ จีนในฐานะประเทศคู่ค้าสำคัญของผลไม้ของภาคตะวันออกได้กำหนดไว้ว่าต้องตรวจไม่พบเชื้อ COVID -19 ทั้งในคน ผลไม้ และองค์ประกอบอื่นในการขนส่ง ทั้งนี้มาตรการระดับสวนเกษตรกร ที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้แนะนำให้ดำเนินการ ประกอบด้วย

1. มีจุดตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย อย่างน้อย 1 จุด

2. มีจุดล้างมือพร้อมน้ำยาล้างมือหรือเจล/สเปรย์แอลกอฮอล์ อย่างน้อย 1 จุด

3. มีแนวกั้นบริเวณอาณาเขตของสวน และมีจุดเข้าออกทางเดียว  

4. การเข้าออกของแรงงานและคนในสวน ห้ามไม่ให้แรงงานของสวนออกจากสวน หรือถ้ามีการออกจากสวนต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิหรือมีมาตรการดำเนินการอื่นๆ

5. การเข้าออกของบุคคลภายนอก ห้ามบุคคลภายนอกเข้าออกสวนโดยไม่มีความจำเป็น และถ้ามีการเข้าออกต้องผ่านการคัดกรอง และมีการจดบันทึกทั้งคนและรถที่ผ่านเข้าออก

6. ให้แรงงานและผู้เกี่ยวข้องในสวนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม

7. มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและทุกคน

8. มีการตรวจ ATK ทุก 7 วัน ทั้งเจ้าของสวนและแรงงาน และคนเข้าออกสวนต้องมีใบรับรองผลตรวจATK 

9. สวมถุงมือที่สะอาดในขณะที่มีการปฏิบัติงานในสวน

10. ต้องมีการเว้นระยะห่างของบุคคล อย่างน้อย1 เมตร

11. มีการจดบันทึกทุกขั้นตอนในแต่ละวัน ได้แก่การเข้าออกสวน ผลตรวจ ATK การวัดอุณหภูมิ การฉีดวัคซีน เป็นต้น   

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่ากรมฯ ได้เตรียมแผนสำรองในการกระจายผลไม้ภายในประเทศใน ในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อCOVID – 19 โดยสถานการณ์เก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนจังหวัดจันทบุรีล่าสุด (ข้อมูล 19 เม.ย.65) มีจำนวน 496,760 ตัน โดยเป็นเกรด A ร้อยละ 80 ซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงพฤษภาคม – มิถุนายน กระจายผลผลิตในประเทศร้อยละ 18.77แปรรูปร้อยละ 10.64 และส่งออกร้อยละ 70.59 ซึ่งกรมฯ ได้เตรียมแผนสำรองในการกระจายผลไม้ภายในประเทศ โดยจัดทำโครงการซื้อขายผลไม้ล่วงหน้า (Pre-Order) โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดร่วมกับE-Commerce มีรูปแบบการกระจายสินค้า ได้แก่ 1) การขายสินค้าในปริมาณที่มาก โดยผู้ผลิตคือกลุ่มแปลงใหญ่ กลุ่มสมาคมผลไม้ในพื้นที่ 2) การกระจายสินค้าผลไม้ผ่านทาง บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัดบริษัท เคอร์รี่ เอ๊กซ์เพรส (ประเทศไทย) ตลาดสินค้าในห้างสรรพสินค้า และ Platform ThailandPostmartรวมถึงมาตรการการเก็บรักษาผลผลิตทุเรียนไว้ในห้องเย็นเพื่อรอการจำหน่าย ผ่านโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC = Eastern Fruit Corridor) ผลักดันลงทุนห้องเย็นเปิดตลาดเพื่อส่งออกทุเรียนพรีเมี่ยม