กรมส่งเสริมการเกษตรนำผลงานโครงการฟักทองเงินล้าน@สุพรรณบุรี สมัครเข้ารับการพิจารณาและตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่มีผลงานหรือโครงการเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสามารถเป็นต้นแบบเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และสังคมในการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นสำคัญ เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาในระดับชาติต่อไป และจากที่คณะกรรมการพิจารณาและตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี 2565 ดำเนินการตรวจประเมินแล้ว ได้มิติให้ “ฟักทองเงินล้าน@สุพรรณบุรี” ผ่านเกณฑ์การประเมินรางวัลฯ เป็นที่เรียบร้อย
นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากที่เกษตรกรที่ทำนาในพื้นที่ของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยเฉพาะที่ข้าวนาปรัง จึงมักประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอแทบทุกปี ดังนั้นสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี จึงกำหนดแนวทางส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่ใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกข้าวนาปรัง และมีการดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก รวมทั้งก่อให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่าการทำนาปรัง ด้วยการส่งเสริมการปลูกฟักทองทดแทนการปลูกพืชหลังนา โดยเรียกว่า Model “ฟักทองเงินล้าน@สุพรรณบุรี” ซึ่งขับเคลื่อนภายใต้การส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ตามแนวทางของ PDCA ประกอบด้วย 1. การเตรียมการ (Plan) ได้ดำเนินการสร้างความเข้าใจด้วยการจัดประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรีและสำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ 2. การขับเคลื่อนการดำเนินงาน : (Do) ได้สร้างความรู้ความเข้าใจถึงประเด็นความต้องการ และการสร้างแรงจูงใจ โดยจัดเวทีสร้างความเข้าใจ หรือ Workshop ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ พร้อมใช้กระบวนการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์สร้างรายได้ 100 ล้าน ภายใต้ภารกิจการเพิ่มพื้นที่การปลูกฟักทอง เพื่อลดพื้นที่นาปรังไม่น้อยกว่า 2,500 ไร่ 3. การติดตามประเมินผลและสรุปบทเรียน (Check) กำหนดให้สำนักงานเกษตรอำเภอ จัดทำแนวทางส่งเสริมการปลูกฟักทอง ภายใต้กลยุทธ์ที่กำหนดหรือแตกต่างตามลักษณะของพื้นที่ ทำให้เกิดการดำเนินงานส่งเสริมการปลูกฟักทองที่หลากหลายรูปแบบ และ 4. การกำหนดแนวทางการพัฒนาและการขยายผล (Act) ใช้การสื่อสาร สร้างความเข้าใจ และขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐภาคเอกชน และ ธ.ก.ส. ในการส่งเสริมการผลิตจนถึงการตลาด
ในด้านความสำเร็จของ “ฟักทองเงินล้าน@สุพรรณบุรี” ต่อการแก้ปัญหาความยากจนในมิติด้านการเงินคือ สามารถสร้างรายได้ได้มากกว่าการทำนาปรัง โดยต้นทุนการปลูกฟักทอง ประมาณ 6,000 บาทต่อไร่ ผลผลิตประมาณ 4,000 กิโลกรัมต่อไร่ ระยะการเก็บเกี่ยว 70 – 85 วัน ราคาประกันไม่ต่ำกว่า 5 บาท ต่อ กิโลกรัม ส่งผลให้เกษตรกรจะมีรายได้ 40,000 บาทต่อไร่ ขณะที่การปลูกข้าวนาปรังจะมีต้นทุน 5,000 บาทต่อไร่ ซึ่งไม่รวมค่าเช่าที่ ผลผลิตโดยเฉลี่ย 850 – 900 กิโลกรัมต่อไร่ ระยะเก็บเกี่ยว 110 วัน ราคาจำหน่ายที่ 6,800 – 7,200 บาทต่อตัน เมื่อเปรียบเทียบแล้วเกษตรกรผู้ปลูกฟักทองมีรายได้ที่สูงกว่าปลูกข้าวนาปรัง ใช้ระยะปลูกที่สั้นกว่า และใช้น้ำน้อยกว่า
ขณะที่ผลการแก้ปัญหาความยากจนในมิติอื่น Model “ฟักทองเงินล้าน@สุพรรณบุรี” ช่วยทำให้เกิดการลดพื้นที่นาปรังประมาณปีละ 2,500 ไร่ ลดการใช้น้ำไม่น้อยกว่า 600 ลูกบาศก์เมตร X 2,500 ไร่ต่อ 1 ฤดูกาล อีกทั้งเกิดระบบการซื้อขายสินค้าเกษตรในรูปแบบประกันราคาล่วงหน้า ที่ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมทำสัญญาซื้อขายกันล่วงหน้าสามารถจำหน่ายผลผลิตทั้งปี ที่สำคัญ คือ เกิดรูปแบบการทำงานการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน เกิดการนำกระบวนการมาปรับใช้ในการส่งเสริมพืชชนิดอื่น รวมถึงการเกิดรูปแบบเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวกัน และความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการแก้ไขปัญหาความยากจนในมิติต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต
“ฟักทองเงินล้าน@สุพรรณบุรี สามารถนำไปขยายผลให้เกิดการพัฒนาได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนพืชใช้น้ำน้อยในพื้นที่อื่นได้ เนื่องจากเป็น MODEL ในการทำงานเดียวกัน เช่น การขยายสู่การปลูกพริก ผัก ข้าวโพด หรือพืชใช้น้ำน้อยอื่น โดย เป็นรูปแบบการทำงานที่สามารถนำไปขยายผลสู่พืชเศรษฐกิจทางเลือกอื่นได้ และนี่คืออีกหนึ่งความสำเร็จของกรมส่งเสริมการเกษตรที่มุ่งมั่นทุ่มเทการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แนวคิด DOAE Next Step ขับเคลื่อนงานส่งเสริมเกษตรวิถีใหม่”รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว