นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ( MOU ) ว่าด้วยการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา วัตถุประสงค์ เพื่อร่วมกันจัดทำข้อมูลพื้นที่เกษตรกรรมโดยใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ รวมถึงร่วมกันจัดทำพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการส่งเสริมการเกษตร และเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพด้านการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ เกิดการสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมและการบริหารจัดการการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศระหว่างกัน และที่สำคัญทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยงานทั้งสองฝ่าย ด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและด้านส่งเสริมการเกษตร และดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นสมควร
เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ นับว่าสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในโครงการต่าง ๆ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาการเกษตรในปัจจุบันไปสู่การเกษตรอัจฉริยะหรือ Smart Agriculture เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่มุ่งสู่เกษตร 4.0 ผนวกกับมาตรการด้านการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตร เช่น การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมไทยโชต เป็นแผนที่ฐานประกอบการวาดผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล และใช้เป็นหนึ่งในแผนที่ฐานในเว็บบริการข้อมูลแผนที่ส่งเสริมการเกษตร (ssmap) การร่วมกันพัฒนาโปรแกรมวาดแปลงในระบบบริการภูมิสารสนเทศเพื่อการเกษตร (GISAgro) การใช้ข้อมูลดาวเทียมตรวจสอบพื้นที่ปลูกข้าว พื้นที่การเกษตรที่เสียหายจากอุทกภัยและภัยแล้ง และติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เป็นต้น ถือเป็นการบูรณาการร่วมพัฒนา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยีและข้อมูลระหว่างหน่วยงาน รวมถึงการร่วมกันนำเสนอข้อมูลการเกษตรที่เป็นข้อมูลเดียวกัน
“ผลงานภายใต้โครงการนี้เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรและ GISTDA ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ทั้ง การจัดทำและตรวจสอบข้อมูลพื้นที่เพาะปลูก พื้นที่เก็บเกี่ยว หรือ พื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและศัตรูพืชของพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และพืชอื่น ๆ นำไปสู่การศึกษาวิจัยและจัดทำการประเมินพื้นที่เกษตรที่เสี่ยงเสียหายจากภัยธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ การประยุกต์ใช้ Applications ด้านการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่สำหรับงานส่งเสริมและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่ และนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพบุคลากรเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและด้านส่งเสริมการเกษตร พร้อมดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นชอบร่วมกัน” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว