นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผลผลิตมันสำปะหลังทั้งประเทศ ประมาณ 35 ล้านตัน โดยแหล่งผลิตที่สำคัญได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6.08 ล้านไร่ ภาคเหนือ 2.68 ล้านไร่ และภาคกลาง 2.15 ล้านไร่ ตามลำดับ และในปีการผลิต 2564/65 มีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรตามที่ตั้งแปลงปลูกผ่านระบบทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) และแอปพลิเคชั่น Farmbook รวมทั้งประเทศ จำนวน 733,177 ครัวเรือน 1.09 ล้านแปลง 10.42 ล้านไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2565) กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ที่มีเป้าหมายการพัฒนาให้ปี 2569 มีผลผลิตเฉลี่ย 7 ตัน/ไร่ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปให้มีความหลากหลาย ภายใต้ยุทธศาสตร์ดำเนินการ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิต ด้านการตลาด ด้านนโยบายและบริหารจัดการ ด้านการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม และด้านงานวิจัยและพัฒนา ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง เพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้มีสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบาย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาด ส่งผลสัมฤทธิ์ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพของเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลัง โดยในปี 2565 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 2,620 ราย ในพื้นที่ 44 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลพบุรี ชัยนาทสระบุรี ราชบุรีกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร ชัยภูมิ อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู ขอนแก่น อุดรธานี เลย มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อุตรดิตถ์ เชียงราย นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ พะเยา ลำปาง แพร่ และจังหวัดหนองคาย
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับกิจกรรมและวิธีการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว นอกจากจะเน้นพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรแล้ว ยังได้จัดการถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร เพิ่มศักยภาพให้มีความรู้และทักษะในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังให้ผลผลิตมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเน้นย้ำการพัฒนาเกษตกรกลุ่มเป้าหมายรายเดิมที่เข้าร่วมโครงการฯในปี 2564 เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรโดยเน้นการพัฒนาในประเด็น 1) การลดต้นทุนการผลิต ด้วยการเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ การเตรียมท่อนพันธุ์คุณภาพ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การผสมปุ๋ยใช้เอง การจัดทำแปลงมันพันธุ์ดี การใช้ปุ๋ยชีวภาพ 2) การเพิ่มผลผลิต ด้วยการใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ การเตรียมดินดี การจัดการน้ำ (ระบบน้ำหยด) การไถระเบิดดินดาน การปรับปรุงบำรุงดินที่ถูกต้อง การใช้ปุ๋ยถูกสูตร ถูกเวลา ถูกปริมาณ ถูกวิธี การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ การขยายมันสำปะหลังด้วยวิธี X20 และ X80 3) การพัฒนาคุณภาพ ด้วยการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ถูกต้อง ตามระยะเวลาที่เหมาะสม การผลิตมันสำปะหลังสะอาด และการแปรรูปเบื้องต้นเพื่อเพิ่มรายได้ 4) การตลาด การวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตามหลักตลาดนำการผลิต และ 5) การบริหารจัดการกลุ่ม ที่มุ่งเน้นสนับสนุนการรวมกลุ่มร่วมกันตั้งแต่การผลิต การจำหน่าย ตลอดจนการจัดทำแปลงขยายผลจากแปลงต้นแบบเพื่อขยายท่อนพันธุ์มันสะอาดสู่เกษตรกรในพื้นที่
******************************
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ข่าว : มิถุนายน 65
กลุ่มส่งเสริมพืชเส้นใยและพืชหัว : ข้อมูล