กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้านำเสนอผลงาน “หนองค้าพารวย ด้วยศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน”จังหวัดศรีสะเกษ และ “จิ้งหรีดแปลงใหญ่แก้จนแบบคนบุรีรัมย์” ในการตรวจประเมินขั้นตอนที่ 2 ลุ้นรางวัลเลิศรัฐ ดีเด่น สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วน ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี พ.ศ. 2565

นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เข้าร่วมการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี พ.ศ. 2565 ขั้นตอนที่ 2 การตรวจประเมิน ณ พื้นที่ปฏิบัติงาน โดยคณะกรรมการฯ จากสำนักงาน ป.ย.ป. เพื่อคัดเลือกผลงานในระดับดีเด่น ในผลงาน “หนองค้าพารวย ด้วยศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน”  ณ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลหนองค้า หมู่ 4 บ้านบก ตำบลหนองค้า อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ และผลงาน “จิ้งหรีดแปลงใหญ่แก้จนแบบคนบุรีรัมย์” ณ บ้านประดู่ ตำบลห้วยสำราญ อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ หลังทั้งสองผลงานได้ผ่านการตรวจประเมินจากเอกสารในขั้นตอนที่ 1 อยู่ในระดับดีมาแล้ว

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า  ผลงาน “หนองค้าพารวย ด้วยศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน” ของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลหนองค้า จังหวัดศรีสะเกษ พัฒนามาจากกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง บ้านบก เมื่อปี 2552 และจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเมื่อปี 2553 ชื่อวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงบ้านบก โดยมีกิจกรรมหลักคือ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ แปรรูปข้าวกล้องงอก แปรรูปพริกและหอมแดง เพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรขาดทุนจากการปลูกพืชทุกปีเนื่องจากดินปลูกเสื่อมโทรมและค่าปุ๋ยที่สูงขึ้น

สำหรับผลงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและสามารถดำเนินธุรกิจในการจัดหาปุ๋ยที่มีคุณภาพใช้ในชุมชน สร้างระบบการบริหารจัดการการผลิตที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ร่วมวางแผนการผลิต แผนการตลาด โดยเน้นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ และขยายผลการใช้เทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินจากศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนสู่เกษตรกรอย่างกว้างขวาง โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้ 1. สามารถสร้างรายได้จากการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยสั่งตัดตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ 1,866 กระสอบ คิดเป็น 93,300 กิโลกรัม และปุ๋ยสั่งตัด จำนวน 3,420 กระสอบ คิดเป็น 171,000 กิโลกรัม โดยสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม 2,770,440 บาท 2. เกิดการจ้างงานในชุมชน ทำให้มีรายได้ในการจุนเจือครอบครัว 3. เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม ศดปช. นำองค์ความรู้ด้านการจัดการดินและปุ๋ยไปปฏิบัติโดยการใช้ปุ๋ยตามค่า วิเคราะห์ดิน หรือปุ๋ยสั่งตัดในการปลูกข้าวนาปีสามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้ร้อยละ 39 จาก 740 บาท/ไร่ เป็น 449 บาท/ไร่ ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการ จาก 360 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 576 กิโลกรัม/ไร่ สามารถสร้างรายได้ให้กับ เกษตรกรปลูกข้าวนาปี เป็นเงิน 2,667 บาท/ไร่ และ 4. มีเงินทุนหมุนเวียน 2,726,522 บาท ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีต้นพืชแข็งแรง สามารถต้านทานต่อการเข้าทำลายของศัตรูพืชได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ลดต้นทุนการผลิตและอันตรายต่อเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินความจำเป็น โดยผลงานนี้มีจุดเด่น คือ มีการขยายเครือข่ายไปยังกลุ่มผู้เลี้ยงโค เพื่อนำมูลโคมาใช้ในการทำปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ทั้งนี้ มูลโคสามารถนำมาแลกเป็นหุ้นแทนเงินสดได้ และการผลิตปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินของกลุ่มยังใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นส่วนผสม (ฟิลเลอร์) ทำให้พืชได้รับทั้งธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นเรื่องการบริหารจัดการกลุ่มที่โปร่งใสเป็นธรรม มีการจัดสรรผลประโยชน์และดูแลสมาชิกเป็นอย่างดี ซึ่งการบริหารจัดการกลุ่มดังกล่าว ถือว่าเป็นต้นแบบที่ดีที่สามารถนำไปขยายผลให้กับศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนอื่น ๆ ได้

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า ผลงาน “จิ้งหรีดแปลงใหญ่แก้จนแบบคนบุรีรัมย์”  ตั้งอยู่ที่ บ้านประดู่ ตำบลห้วยสำราญ อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชุมชนไทย-เขมร  มีรายได้หลักมาจากการทำเกษตรกรรม เฉลี่ย 52,265 บาท/ครัวเรือน/ปี ในขณะที่มีหนี้สินเฉลี่ย 60,228 บาท/ครัวเรือน/ปี จึงไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และยังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ดังนั้นจึงเริ่มมีการเลี้ยงจิ้งหรีดรายแรกโดยนางเพย ลาล่า เนื่องจากใช้ระยะเวลาเลี้ยงจิ้งหรีดไม่นาน ต่อมาการเลี้ยงจิ้งหรีดขยายวงกว้างขึ้นเป็น 37 ราย

เมื่อเริ่มมีการเลี้ยงจิ้งหรีดมากขึ้น แต่การเลี้ยงยังคงเป็นการเลี้ยงแบบทั่วไป กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ และสำนักงานเกษตรอำเภอกระสัง จึงได้เข้ามาจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่จิ้งหรีด  โดยมีสมาชิกทั้งหมด 37 ราย และบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ของกลุ่ม จากสมาชิก 37 ราย รวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่จิ้งหรีด เพื่อดำเนินกิจกรรมในรูปแบบกลุ่ม เพิ่มอำนาจในการต่อรอง รวมกลุ่มผลิต รวมกลุ่มแปรรูป รวมกลุ่มจำหน่าย พัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้มีความเป็นผู้นำ สร้างความรักและสามัคคีในชุมชน โดยเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ มาใช้จ่ายในครอบครัวไม่น้อยกว่าปีละ 20,000 – 300,000 บาท/ปี รวมถึงแปรรูปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์จิ้งหรีด เช่น คุกกี้ น้ำพริกนรก น้ำพริกตาแดง,น้ำพริกเผา น้ำพริกสวรรค์  ข้าวเกรียบ ขนมเปี๊ยะ ทั้งนี้ จิ้งหรีดเป็นอาหารทางเลือกใหม่ โปรตีนสูง และมีการบริโภคทั่วไป อีกทั้งการเลี้ยงจิ้งหรีดใช้ทรัพยากร วัสดุ อุปกรณ์ในการเลี้ยงไม่มาก ไม่ทำให้เกิดขยะ สามารถจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากการเลี้ยงจิ้งหรีดได้ เช่น นำมูลจิ้งหรีดมาทำเป็นปุ๋ย สำหรับหว่านในนาข้าวสามารถช่วยลดต้นทุนปุ๋ยเคมีได้ ผลงานนี้จึงเป็นก้าวที่มั่งคงให้กับชุมชน เพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืนต่อไป โดยมีจุดเด่น คือ 1. สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือน 2. ลูกหลานกลับมาประกอบอาชีพการเกษตรทำให้เกิดความผูกพันธ์ในครอบครัว 3. มีการบริหารจัดการกลุ่มที่ดี รวบรวมผลผลิตและหาช่องทางการตลาดให้แก่สมาชิก โดยมีตลาดใหญ่ๆ ที่ตลาดไทและตลาดบางพลี 4. มีการแปรรูปสินค้าจากจิ้งหรีดได้หลายประเภท เช่น น้ำพริกจิ้งหรีด ข้าวเกรียบจิ้งหรีด เป็นต้น