เฉลิมชัย ดันใช้ปุ๋ยผสมผสาน ช่วยเกษตรกรขจัดปัญหาปุ๋ยราคาแพง

          ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยข้อมูลว่า ดินและปุ๋ย เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่พืชทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง หรือมีการใช้ปุ๋ยมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในส่วนของปุ๋ยเคมีสูง ประกอบกับประเทศไทยยังคงต้องมีการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาด้านการนำเข้า อาจทำให้ปุ๋ยเคมีราคาสูง และหาซื้อยากมากขึ้น เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ใช้ปุ๋ย ก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะถ้าพืชได้รับปุ๋ยหรือธาตุอาหารไม่เพียงพอ จะส่งผลการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง คุณภาพของผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยลดและบรรเทาปัญหา เราจำเป็นต้องหันมาใส่ใจเรื่องการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

          นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีการดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรจัดการดินและการใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง ใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการ 4 ถูก (ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี) ส่งเสริมเกษตรกรใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต ผลผลิตมีคุณภาพ และลดต้นทุนการผลิต ผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน หรือ ศดปช. มาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งปัจจุบันมี ศดปช. จำนวน 882 ศูนย์ ตั้งอยู่อำเภอละ 1 ศูนย์ ทั่วประเทศ มีสมาชิก ศดปช. 17,640 ราย โดยสมาชิก ศดปช. มีการยอมรับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและนำไปปฏิบัติเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้ ศดปช. เป็นต้นแบบในการขยายผลถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องและเหมาะสมไปสู่เกษตรกรทั่วไป และผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา สมาชิก ศดปช. มีพื้นที่การนำเทคโนโลยีฯ ไปใช้เพิ่มขึ้นเป็น 244,853 ไร่ ได้รับผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ลดต้นทุนปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยร้อยละ 25.2 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 73 ล้านบาท รวมทั้งสามารถจัดตั้ง ศดปช.เครือข่ายเพิ่มขึ้นตามความต้องการของพื้นที่ จึงทำให้มี ศดปช.เครือข่าย เกิดขึ้นรวมแล้วจำนวน 1,095 ศูนย์ และมีสมาชิกของ ศดปช. เครือข่ายรวมทั้งสิ้น 32,547 ราย

          สำหรับการดำเนินงานตามมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาสูงและไม่มีเสถียรภาพ ระหว่างปี 2565 – 2569 ในส่วนของการแก้ไขปัญหาระยะสั้นของกรมส่งเสริมการเกษตรนั้น ได้มอบแนวทางปฏิบัติลงสู่พื้นที่เพื่อให้สำนักงานเกษตรจังหวัด /อำเภอ ได้รับทราบและนำไปปฏิบัติ ได้แก่ การกำหนดนโยบายส่งเสริมเกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การปรับปรุงความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสม และการใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน ผ่าน ศดปช. การผลักดัน ศดปช. เป็นต้นแบบ และสนับสนุน ศดปช. เป็นกลไก ในการขยายผลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาปุ๋ยเคมีราคาสูงและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งจำหน่ายแม่ปุ๋ยได้ และการจัดหาแหล่งทุนเสริมสภาพคล่อง ทั้งการขอสินเชื่อและการจัดหาแหล่งทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ในการจัดหาปุ๋ยบริการสมาชิก ศดปช. แปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรรายย่อย จาก ธ.ก.ส.

          นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังมีการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ปุ๋ยแบบผสมผสานทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ โดยเน้นใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีในท้องถิ่นมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง และการไถกลบตอซัง เพื่อทำให้เกิด 4 ลด 4 เพิ่ม คือ ลดการเผา ลดโลกร้อน ลดการชะล้างดิน และลดต้นทุนด้านปุ๋ยเคมี ในขณะที่ทำให้มี 4 เพิ่ม คือ เพิ่มอินทรียวัตถุ เพิ่มธาตุอาหารพืช เพิ่มผลผลิต และเพิ่มมูลค่าวัสดุการเกษตรเหลือใช้ ในสภาวะที่ปุ๋ยเคมีปรับราคาสูงขึ้นและขาดแคลนจากความผันผวนที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ กรมส่งเสริมการเกษตรได้รณรงค์ให้เกษตรกรผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559 โดยสำนักงานเกษตรจังหวัด บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภายในและนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่ 77 จังหวัด 882 อำเภอทั่วไป  ปี 2565 มีเป้าหมายการผลิตปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และการไถกลบตอซัง จำนวน 2,156,033.83 ตัน ผลการดำเนินงาน เดือนตุลาคม 2564 – มิถุนายน 2565 สามารถผลิตได้จำนวน 3,406,152.63 ตัน (ผลิตได้ร้อยละ 157.98 ของเป้าหมาย) ได้แก่ ปุ๋ยคอก 514,071.8 ตัน ปุ๋ยหมัก 279,579.18 ตัน ปุ๋ยพืชสด 218,916.28 ตัน ไถกลบตอซัง 2,393,585.37 ตัน (พื้นที่ไถกลบตอซังข้าว 4,465,809.56 ไร่ ข้าวโพด 75,495.03 ไร่ อ้อย 48,209.44 ไร่) คิดเป็นธาตุอาหาร N P K  รวม 110,894.135 ตัน (N 34,128.67 ตัน P 24,464.63 ตัน K 52,300.84 ตัน) ทั้งนี้ ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ต่างก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ไม่สามารถที่จะใช้ทดแทนกันได้ทั้งหมด ปุ๋ยเคมีที่เราใส่ลงไปในดิน จะให้ธาตุอาหารในปริมาณมาก พืชนำไปใช้ได้ง่ายและรวดเร็ว ในขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์ มีปริมาณธาตุอาหารอยู่น้อยกว่า และมีคุณสมบัติช่วยให้ดินมีความโปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศได้ดี เผื่อให้รากพืชได้ชอนไชไปหาธาตุอาหารได้ง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพปุ๋ยเคมี ดังนั้น เกษตรกรจึงควรใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ด้วยเช่นกัน อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติม

          ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรขอประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้เกษตรกร เข้ามาใช้บริการที่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน หรือ ศดปช. ทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรสามารถจัดการดิน วิเคราะห์ดิน และใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งเป็นการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องในปริมาณที่เหมาะสมกับปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินและความต้องการของพืช เป็นการใช้ปุ๋ยแม่นยำเฉพาะพื้นที่ ไม่มากไม่น้อยเกินไป และเกิดการลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง