กรมส่งเสริมการเกษตรแนะชาวสวนมะพร้าว หมั่นสำรวจแปลง หากพบการระบาดของศัตรูมะพร้าว ให้รีบกำจัดด้วยวิธีผสมผสาน ป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหาย

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เพื่อติดตามการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรและสถานการณ์การผลิตมะพร้าวของจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับทราบรายงานสถานการณ์การระบาดของแมลงศัตรูพืช จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลพบว่าในเขตพื้นที่ปลูกมะพร้าวยืนต้นของอำเภอเมืองสมุทรสงคราม อำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวยืนต้น รวมกันทั้งสิ้น 67,642 ไร่ เริ่มพบว่ามีการเข้าทำลายของศัตรูมะพร้าวที่สำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ แมลงดำหนามมะพร้าว จำนวน 58.06 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.09 หนอนหัวดำมะพร้าว จำนวน 37.2 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.05 และด้วงแรดมะพร้าว จำนวน 153.25 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.23 (ข้อมูล ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2565)

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะยังไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นการระบาด แต่ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ ลงพื้นที่ไปส่งเสริมการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวแบบผสมผสานให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยให้เกษตรกรสำรวจหาร่องรอย และการทำลายของศัตรูมะพร้าว การจัดการแปลงให้สะอาด ทำลายแหล่งอาศัยของศัตรูมะพร้าว เช่น ตอและต้นมะพร้าวที่ย่อยสลายในแปลงเกษตรกร และกองปุ๋ยหมักด้วยวิธีการจับทำลาย การใช้ฟีโรโมนป้องกันกำจัดด้วงแรดมะพร้าว รวมทั้งสารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดระบาดเป็นวงกว้างออกไปได้ ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอยังได้สนับสนุนศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แตนเบียนกำจัดแมลงดำหนามมะพร้าว แมลงหางหนีบ เชื้อราเมตาไรเซียมกำจัดหนอนด้วงแรดมะพร้าว เป็นต้น ให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาด้านศัตรูพืชด้วยอีกทางหนึ่ง

“นอกจากนี้ ในส่วนของการดำเนินงานป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวของสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม ได้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวอย่างถูกวิธี ผ่านทางจดหมายเตือนการระบาดศัตรูพืช และประชาสัมพันธ์ผ่านเวทีการประชุมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์จัดการศัตรูพืช (ศจช.) ในพื้นที่ 3 อำเภอ จำนวน 10 ศูนย์ ได้แก่ ศจช.ตำบลนางตะเคียน ศจช.ตำบลบางขันแตก ศจช.ตำบลคลองเขิน ศจช.ตำบลปลายโพงพาง ศจช.ตำบลแควอ้อม ศจช.ตำบลแพรกหนามแดง ศจช.ตำบลบางสะแก ศจช.ตำบลจอมปลวก ศจช.ตำบลโรงหีบ และ ศจช.ตำบลบ้านปราโมทย์ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) ซึ่งมีความพร้อมในการผลิตขยายชีวภัณฑ์สำหรับใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ และมีการจัดทำแปลงพยากรณ์แปลงมะพร้าว ใช้สำรวจศัตรูพืชสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อแจ้งเตือนการระบาดศัตรูมะพร้าวในพื้นที่อีกด้วย” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับสถานการณ์การผลิตมะพร้าวผลแก่ ปี 2565 ของจังหวัดสมุทรสงคราม มีผลผลิตมะพร้าวแก่ รวมจำนวน 78,124.19 ตัน มีครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน 7,249 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 45,053 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 44,898 ไร่ โดยคิดอัตราเฉลี่ยผลผลิต/ไร่ เท่ากับ 1,740.04 กิโลกรัม ช่วงเวลาให้ผลผลิตสูงสุด อยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน – เดือนธันวาคม เฉลี่ยเดือนละ 6,719.13 ตัน เกษตรกรมีการจำหน่ายผลผลิต แบ่งเป็น ภายในจังหวัด 39,829.96 ตัน คิดเป็น 50.98 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณผลผลิตรวม และภายนอกจังหวัด 38,294.23 ตัน คิดเป็น 49.01 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณผลผลิตรวม

******************************

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว : กรกฎาคม 65
สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม : ข้อมูล