“เฉลิมชัย” สั่งลุยแก้ปัญหาลำไยภาคเหนือ กางแผนดูแลผลผลิตกว่า 1 ล้านตัน

“เฉลิมชัย” สั่งฟรุ้ทบอร์ดลุยแก้ปัญหาลำไยภาคเหนือ ชี้ผลผลิตมากถึง 1 ล้านตัน สั่งเข้มกางแผนดูแลทั้งระบบทั้งปริมาณ และ คุณภาพ จับมือพาณิชย์ผลักดันให้เกิดการบริโภคและส่งเสริมการตลาดให้เกษตรกร

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยว่า สถานการณ์ลำไยในปีนี้มีการคาดการณ์ผลผลิตจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 64 อยู่ราวๆ 20 % มีผลผลิตในฤดูอยู่ที่ 812,818 ตัน นอกฤดู 259,746 ตัน ซึ่งรวมกว่า 1 ล้านตัน ภาคเหนือจะมีลำไยออกสู่ตลาดในเวลานี้เยอะที่สุด จะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน โดยช่วงที่ให้ผลผลิตมากต้องเฝ้าระวัง คือ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคม ซึ่งตนได้สั่งการให้ฟรุ้ทบอร์ด ได้วางแผนรับมืออย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 (COVID – 19) ในจีนยังไม่คลี่คลาย ทําให้เกิดปัญหาการปิดด่านหรือจํากัดการเข้าออกในแต่ละวัน ทางจีนเองมีมาตรการที่เข้มงวดในการคัดกรองโควิด 19 (COVID –19)ทําให้เกิดปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่จะเดินทางไปยังประเทศจีนไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถส่งออกลําไยไปจีนได้ ซึ่งความต้องการในจีนยังคงมีมาก แต่ติดปัญหาเรื่องระบบโลจิสติกส์จากไทยไปจีน

นอกจากนั้นในฤดูกาลที่ผ่านมายังมีลําไยอบแห้งค้างอยู่ในจีนเป็นจํานวนมากเนื่องจากเป็นลําไยอบแห้งที่ไม่มีคุณภาพที่เกิดจากการใช้ลําไยที่แก่จัดในการอบแห้ง ซึ่งตลาดในจีนไม่ต้องการ จึงทําให้การรับซื้อลําไยอบแห้งลดลง 40 – 50 % ผู้ประกอบการจีนไม่สู้ราคาลําไยในฤดูของไทย เนื่องจากประเทศจีนก็สามารถผลิตลําไยคุณภาพราคาถูกได้ อีกทั้งลําไยในจีนไม่มีการอบกํามะถันเหมือนกับลําไยไทย ลําไยเนื้อสีทองในไทยตอนนี้ราคาตกมาก เนื่องจากยังคงมีค้างอยู่ในสต๊อก และลําไยไทยยังต้องเผชิญกับลําไยสีทองของเวียดนามที่มีราคาถูกกว่าลําไยสีทองในประเทศไทย ปัญหาโรงอบในไทย ยังไม่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ตนยืนยันว่าแม้จะเกิดปัญหาบ้างแต่ทางฟรุ้ทบอร์ดพร้อมที่จะผลักดันแนวทางต่างๆเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไยอย่างเต็มที่”

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ ข้อมูลเกษตรกรที่มีการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกลำไยของกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2565 นี้ มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 138,656 ครัวเรือน  241,675 แปลง มีพื้นที่ปลูกลำไย 1,039,756 ไร่  ปีนี้ลำไยมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น 20 % แนวทางของฟรุ้ทบอร์ด ได้วางแผนบริหารจัดการเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งระยะก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต เน้นการกระจายผลผลิตออกนอกฤดู การส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน (GAP) โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้กลไกที่สำคัญในงานส่งเสริมการเกษตร คือ การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า เกษตร (ศพก.) รวมทั้ง ดำเนินการผ่านงบพัฒนาจังหวัด พื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด  ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต เน้นการให้คำแนะนําการเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะที่เหมาะสมและวิธีการที่เหมาะสม ติดตามสถานการณ์ด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิต พื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – กันยายน 2565 และระยะหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เน้นการให้คําแนะนําเกษตรกรในการเตรียมต้นในฤดูกาลถัดไปด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม และจัดทําแนวทางพัฒนาลําไยคุณภาพในปีต่อไป พื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัดภาคเหนือ” 

อย่างไรก็ตามในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตซึ่งถือเป็นหัวใจของการบริหารจัดการลำไยของฟรุ้ทบอร์ด ในการบริหารจัดการผลผลิต โดยการกระจายผลผลิตลําไย ปริมาณ 764,777 ตัน ดําเนินการในพื้นที่ 8 จังหวัด ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กันยายน 2565 ดังนี้ การบริโภคสดในประเทศ ด้วยวิธีการ กระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตผ่านผู้ประกอบการ สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน Modern Trade การจัดงานประชาสัมพันธ์ ธ.ก.ส./ไปรษณีย์/ตลาดออนไลน์ ตลาดภายในจังหวัด/แหล่งท่องเที่ยว โดยมีสัดส่วนการกระจายผลผลิตสําหรับการบริโภคสดในประเทศประมาณ 197,452 ตัน (ร้อยละ 25.82) การแปรรูป ด้วยวิธี การอบแห้งทั้งเปลือก การอบแห้งเนื้อสีทอง น้ำลําไยสกัดเข้มข้น ลําไยกระป๋อง ลําไยฟรีซดราย และลําไยแช่แข็ง โดยมีสัดส่วนการแปรรูปลําไยทั้งหมด ประมาณ 430,524 ตัน (ร้อยละ 56.29) การส่งออกลําไยสด มีสัดส่วนการส่งออกลําไยสด ประมาณ 136,801 ตัน (ร้อยละ 17.89)

ในส่วนของการเตรียมการบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกิน ในช่วง Peak ซึ่งประกอบด้วย แผนเผชิญเหตุที่จังหวัดดําเนินการแก้ไขได้เอง ได้แก่ จัดงานประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการบริโภคในจังหวัดปลายทางนอกแหล่งผลิต เฝ้าระวังการซื้อขายผลผลิตโดยเฉพาะในช่วง Peak ที่ราคาอาจตกต่ำและเกษตรกรรวมตัวกัน การกําหนดมาตรฐานการรับซื้อที่ชัดเจน และเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกล้ง ตั้งคณะทํางานร่วมสังเกตการณ์ตรวจรับรองมาตรฐานเครื่องคัดกรองขนาดลําไยสดตัดขั้วรูดร่วง การกระจายสดนอกแหล่งผลิต การเพิ่มจุดจําหน่ายในจังหวัด/แหล่งท่องเที่ยวและจัดงานเทศกาลลําไย ส่งเสริมการผลิตลําไยนอกฤดู เชื่อมโยงร้านธงฟ้า และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป้าหมาย 700 อําเภอ (65 จังหวัด) เพิ่มจุดจําหน่ายในจังหวัด/แหล่งท่องเที่ยว และจัดงานเทศกาลลําไย รวมทั้ง ส่งเสริมการรวมกลุ่มแปลงใหญ่และผลิตลําไยนอกฤดู ดําเนินการในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลําปาง ลําพูน แพร่และตาก ” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว