นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคลงพื้นที่พบปะเกษตรกรเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและรายงานให้ผู้บริหารทราบเป็นประจำทุกสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังคือ แมลงหวี่ขาวยาสูบ ที่เป็นพาหะนำโรค ซึ่งนอกจากจะอาศัยอยู่กับต้นมันสำปะหลังแล้ว ยังสามารถแฝงตัวอยู่กับพืชชนิดอื่นหรือเรียกว่า “พืชอาศัย” ได้หลายชนิด ได้แก่ กะเพรา โหระพา มันฝรั่ง พืชตระกูลพริกและมะเขือ พืชตระกูลถั่ว รวมถึงวัชพืชที่ติดมากับพืชอาศัย ดังนั้น เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังควรหลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยเหล่านี้ในบริเวณเดียวกับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง และควรหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกมันสำปะหลังอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบพาหะนำโรคใบด่างมันสำปะหลังด้วย
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคำแนะนำในการป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ แนะนำให้พ่นสารกำจัดแมลงเพื่อกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรบริเวณต้นมันสำปะหลังในแปลงที่พบอาการใบด่างมันสำปะหลังและแปลงข้างเคียงด้วยสารเคมี ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% SL อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไบเฟนทริน 2.5% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไตรอะโซฟอส 40% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน กรณีจะทำการพ่นสารกำจัดแมลงทางอากาศให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้สารป้องกันกำจัดแมลงด้วยอากาศยานไร้คนขับ ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังสามารถขอคำแนะนำและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน
*************************
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์: นาฏสรวง/ข่าว กันยายน 2565
ที่มา : กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร
ที่มาภาพ : ภาพแมลงหวี่ขาวยาสูบ โดยกรมวิชาการเกษตร