กรมส่งเสริมการเกษตรประกาศผลการประกวดแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรดีเด่น ปี 2565 ตามนโยบายส่งเสริมไทยเที่ยวไทย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มน้ำตาลโตนดบ้านดงห้วยหลวง เพชรบุรี และวิสาหกิจชุมชนใบหม่อนฟาร์ม ตำบลท่าหลวง ลพบุรี สุดเจ๋งคว้ารางวัลที่ชนะเลิศ พร้อมเดินหน้าต่อยอดสู่ระดับธุรกิจการท่องเที่ยว
นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดให้มี “โครงการประกวดแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรระดับประเทศ” ขึ้น เพื่อคัดเลือกแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย ถูกสุขอนามัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ข้อมูลรองรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ตามนโยบายส่งเสริมไทยเที่ยวไทยให้มีการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก และต่อยอดไปสู่ระดับธุรกิจการท่องเที่ยว โดยแบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “เที่ยวเกษตรวิถีใหม่ ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” และประเภทที่ 2 แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรยอดวิว YouTube สูงสุด ขณะนี้การตัดสินการประกวดได้เสร็จสิ้น มีวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับรางวัลประเภทที่ 1 รวม 12 รางวัล ประกอบด้วยรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 – 2 และรางวัลชมเชย 9 รางวัล และประเภทที่ 2 จำนวน 1 รางวัล
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลประกวดประเภทที่ 1 รางวัลชนะเลิศ รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มน้ำตาลโตนดบ้านดงห้วยหลวง ตำบลบ้านทาน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่างตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์เพชรจินดา ตำบลนาบอน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ส่วนรางวัลชมเชยจำนวน 9 รางวัล ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านโหนด – บ้านเปียน ตำบลบ้านโหนด อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา, เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวชุมชนบ้านไหนหนัง ตำบลเขาคราม อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่, วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลบ้านแหลม ตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี, เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านหาดสองแคว ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์, วิสาหกิจชุมชนบ้านวังรีผลิตจานกาบหมาก ตำบลเขาพระ อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก, วิสาหกิจชุมชนกาแฟแปรรูปแปลงใหญ่ละอูบ ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน, วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวท่าตอมหาราช ตำบลท่าตอ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านสวนธนวัฒน์ ตำบลองครักษ์ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง และวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรปากช่อง ตำบลขนงพระ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
“สำหรับประเภทที่ 2 การประกวดแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรยอดวิว YouTube สูงสุด รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนใบหม่อนฟาร์ม ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี”
นายนวนิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มน้ำตาลโตนดบ้านดงห้วยหลวง ตั้งอยู่เลขที่ 60 หมู่ 6 ตำบลบ้านทาน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี โทร. 09-5592-7054 เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่โดดเด่นในการนำเสนอถึงเสน่ห์และวิถีชีวิตชุมชน จากที่ส่วนใหญ่มีอาชีพทำตาลโตนด ด้วยมีต้นตาลขึ้นหนาแน่น ซึ่งเรียงรายเป็นทิวแถว อย่างสวยงามตามคันนา รู้สึกถึงความร่มรื่นของทุ่งนาที่มีต้นตาลมากที่สุดในอำเภอบ้านลาด และน้ำตาลโตนดยังเป็นสินค้า GI ของจังหวัดเพชรบุรี โดยมีกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อาทิ กิจกรรมตามรอยตาล ชมวิวทิวทัศน์ทุ่งนา-ป่าตาล
บ้านดงห้วยหลวง ชมวิถีชีวิตการปีนตาล การเคี่ยวตาล หยอดตาลน้ำตาลเที่ยง ชิมลูกตาลสด, การทำข้าวผัดจาวตาล ชิมน้ำลอนตาล ทำโตนดทอด ทำผ้าย้อมตาล ปั่นจักรยานชมดงตาล และกิจกรรมเดินป่า เช็คอินจุดชมวิวบริเวณเขาพระ เป็นต้น
ขณะที่ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง ตั้งอยู่เลขที่ 65 หมู่ 6 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด โทร.08-3236-3559 เป็นวิสาหกิจชุมชนที่จัดให้มีกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ ที่พักโฮมสเตย์ริมชายหาด ชมวิถีชีวิตประมง ล่องเรือ ชมปะการังน้ำตื้น กิจกรรมธนาคารปูม้า จุดเรียนรู้การแปรรูปสมุนไพรพื้นบ้าน การผลิตผักอินทรีย์ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ “ผ้าสามป่า” ผ้า Eco-print ที่นำเอาใบไม้จากป่าในชุมชนมาเป็นลวดลายบนผืนผ้า การหมกตัวด้วยทรายแดง เป็นต้น ส่วนวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์เพชรจินดา ตั้งอยู่เลขที่ 199 หมู่ที่ 1 ต.นาบอน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ โทร. 08-37225-4468 โดดเด่นในด้านเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีบ้านพักไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่สะดวกสบาย มีการเชื่อมโยงการเรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจากชาวบ้านโคก เที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวทางธณีวิทยา แหล่งขุดค้นพบไม้กลายเป็นหินภูปอ แหล่งท่องเที่ยวทางบรรพชีวินวิทยา ซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย และฟาร์มสเตย์เกษตรอินทรีย์เพชรจินดา เป็นต้น
“ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการพัฒนาแนวทางการส่งเสริมและพัฒนางานท่องเที่ยวเชิงเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกรมาเป็นอันดับแรก ทั้งด้านการเพิ่มทักษะพัฒนาศักยภาพทั้งผู้ประกอบการและบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง การยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้ได้มาตรฐาน มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว รวมถึงการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองต่อนโยบายส่งเสริมไทยเที่ยวไทยที่สนับสนุนให้มีการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เกิดการสร้างงานสร้างรายได้สู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ กระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก และต่อยอดไปสู่ระดับธุรกิจการท่องเที่ยวต่อไป” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว