กสก. คุมเข้ม การบริหารจัดการผลไม้ ช่วงวิกฤตการณ์ Covid – 19 ย้ำไทยปลอดโควิด จากสวนสู่ผู้บริโภค มั่นใจลำไยคุณภาพมาตรฐานปลอดโควิดร้อยเปอร์เซ็นต์

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยว่า สถานการณ์ลำไยในปีนี้มีการคาดการณ์ผลผลิตจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 64 อยู่ราว ๆ 20 % มีผลผลิตในฤดูอยู่ที่ 812,818 ตัน นอกฤดู 259,746 ตัน ซึ่งรวมกว่า 1 ล้านตัน ภาคเหนือจะมีลำไยออกสู่ตลาดในเวลานี้เยอะที่สุด จะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน โดยช่วงที่ให้ผลผลิตมากต้องเฝ้าระวัง คือ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคม ซึ่งตนได้สั่งการให้ฟรุ้ทบอร์ด ได้วางแผนรับมืออย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตซึ่งถือเป็นหัวใจของการบริหารจัดการลำไยของฟรุ้ทบอร์ด ในการบริหารจัดการผลผลิต โดยการกระจายผลผลิตลำไย ปริมาณ 764,777 ตัน ดำเนินการในพื้นที่ 8 จังหวัด ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กันยายน 2565 ดังนี้ การบริโภคสดในประเทศ ด้วยวิธีการ กระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตผ่านผู้ประกอบการ สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน Modern Trade การจัดงานประชาสัมพันธ์ ธ.ก.ส./ไปรษณีย์/ตลาดออนไลน์ ตลาดภายในจังหวัด/แหล่งท่องเที่ยว โดยมีสัดส่วนการกระจายผลผลิตสำหรับการบริโภคสดในประเทศประมาณ 197,452 ตัน (ร้อยละ 25.82) การแปรรูป ด้วยวิธี การอบแห้งทั้งเปลือก การอบแห้งเนื้อสีทอง น้ำลำไยสกัดเข้มข้น ลำไยกระป๋อง ลำไยฟรีซดราย และลำไยแช่แข็ง โดยมีสัดส่วนการแปรรูปลำไยทั้งหมด ประมาณ 430,524 ตัน (ร้อยละ 56.29) การส่งออกลำไยสด มีสัดส่วนการส่งออกลำไยสด ประมาณ 136,801 ตัน (ร้อยละ 17.89) ทั้งนี้ปัญหาสถานการณ์โควิด 19 (COVID – 19) ในจีนที่ยังไม่คลี่คลาย ทำให้เกิดปัญหาการปิดด่านหรือจํากัดการเข้าออกในแต่ละวัน ทางจีนเองมีมาตรการที่เข้มงวดในการคัดกรองโควิด 19 (COVID –19) ทำให้ไม่สามารถส่งออกลำไยไปจีนได้

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้มีการจัดทำแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ช่วงวิกฤตการณ์ Covid – 19 ซึ่งดำเนินการในสินค้าไม้ผลทุกชนิด โดยอาศัยการดำเนินงานผ่านคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ในการส่งเสริม สนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรในพื้นที่ เน้นการป้องกันพึงระวังตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางตั้งแต่การเก็บเกี่ยวและการจัดการในสวนผลไม้จนถึงการขนส่งไปยังผู้บริโภคให้มีการปฏิบัติที่ปลอดภัย

การบริหารจัดการต้นทาง โดยจัดการความเสี่ยง และควบคุมจุดวิกฤต ตามพื้นที่ระบาดหนักตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยความเหมาะสมต่อการทำงานการทำความสะอาด การฆ่าเชื้อ การแยกพื้นที่การผลิต การควบคุมผู้ส่งออก การเก็บรักษา และตลอดสายการผลิต กำหนดให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น หน้ากากอนามัย และถุงมืออย่างเหมาะสม มีการเว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนคนงานที่อยู่ในพื้นที่การผลิต ลดการปฏิสัมพันธ์ และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัยอย่างเพียงพอ รวมถึงการทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ พนักงานหรือผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ต้องหมั่นสังเกตตัวเอง หากมีอาการบ่งชี้ว่าอาจได้รับเชื้อ ไม่ควรมาทำงาน และดำเนินการตามมาตรการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อทันที

ในขณะที่กลางทาง – ปลายทาง โดยให้ปฏิบัติตามประกาศของกรมการขนส่งทางบก ที่กำหนดมาตรการปฏิบัติเพื่อควบคุมการแพร่ระบาตของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) สำหรับผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่มีการเข้า – ออกพื้นที่ควบคุมสูงสุดไว้ ดังต่อไปนี้

1. ผู้ประกอบการขนส่งต้องทำความสะอาดยานพาหนะด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั้งภายในและภายนอกตัวยานพาหนะก่อนบรรทุกสินค้าทุกครั้ง กรณีบรรทุกขนส่งสินค้าประเภทอาหารสดจะต้องมีเอกสารรับรองว่าสินค้าผ่านมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดไว้ประจำด้วย เช่น กรณีอาหารทะเลต้องมีเอกสารรับรองจากกรมประมง เป็นต้น

2. ผู้ประกอบการขนส่งต้องกำชับให้พนักงานขับรถควรอยู่แต่ในรถ ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องระหว่างการขนถ่ายสินค้าและสัมผัสกับตัวสินค้าตลอดการขนส่ง โดยจะต้องดูแลเรื่องความสะอาดของตนเอง สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา และมีแอลกอฮอล์เจลติดตัวไว้ทำความสะอาดมืออย่างสม่ำเสมอ หากมีความจำเป็นที่พนักงานขับรถจะต้องสัมผัสกับตัวสินค้า พนักงานขับรถต้องสวมถุงมือยางและสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาจนกว่าจะทำการขนส่งสินค้าเสร็จ

3. ผู้ประกอบการขนส่งต้องกำชับให้เจ้าหน้าที่สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติงาน และให้มีการตรวจสอบสภาพร่างกายเจ้าหน้าที่และพนักงานขับรถ โดยจัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเพื่อคัดกรองรายวันก่อนปฏิบัติงานทุกวัน หากพบเจ้าหน้าที่หรือพนักงานขับรถคนใดที่มีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 37.5 องศาเซลเซียสหรือมีอาการไอ เจ็บคอ หอบ เหนื่อย จะต้องไม่อนุญาตให้ทำงานหรือเข้ามาภายในสถานประกอบการ จนกว่าจะได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)

4. ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องดูแลและทำความสะอาดภายในบริเวณสถานประกอบการและบริเวณสถานที่ขนถ่ายสินค้าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เพื่อให้มั่นใจว่ามีความสะอาดเพียงพอและปลอดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)

5. ผู้ประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามมาตรการและแนวทางการดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ที่กำหนดโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้อธิบดีเข้มแข็งกล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรดูแลเกษตรกรตั้งแต่ต้นทางคือจากสวนไปสู่ผู้บริโภคด้วยผลผลิตปลอดจากโควิด ซึ่งในปีนี้ จากการคาดการณ์ผลผลิตลำไยปี 65  ผลผลิตในฤดูอยู่ที่ 812,818 ตัน นอกฤดู 259,746 ตัน รวมแล้วกว่า 1 ล้านตัน ในส่วนของลำไยภาคเหนือที่มีปริมาณ ปริมาณ 764,777 ตัน  ที่กำลังออกสู่ตลาดในขณะนี้ ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจในมาตรการต่างๆที่เกษตรกรร่วมกับภาครัฐได้ดำเนินการในขณะนี้”