กรมส่งเสริมการเกษตรจัดกิจกรรมรณรงค์ควบคุมป้องกันโรคใบด่างมันสำปะหลัง ณ เมืองย่าโม กระตุ้นเกษตรกรให้ตื่นตัวตระหนักรู้ และหมั่นสำรวจติดตามการระบาดในแปลงปลูกของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยและต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง สร้างการรับรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และเกษตรกร เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรตื่นตัวตระหนักรู้ถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และส่งเสริมให้เกษตรกรหมั่นสำรวจติดตามการระบาดในแปลงปลูกของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เกษตรกรต้องมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่กับการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังให้ได้ โดยจะต้องมีการจัดการแปลง อย่างถูกต้อง จำกัดพื้นที่การระบาดให้อยู่ในวงจำกัดให้ได้ ป้องกันการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่น เป็นที่มาของการดำเนินโครงการรณรงค์เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส และถือว่าเป็นโรคที่สำคัญ เนื่องจากหากเกิดการระบาดที่รุนแรง จะทำให้ผลผลิตเสียหาย ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และส่งผลกระทบกับรายได้ของเกษตรกรและอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของประเทศ

“จังหวัดนครราชสีมา เป็นหนึ่งในแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญของประเทศ มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 8.9 ล้านไร่ ปลูกมันสำปะหลังทั้งจังหวัด 32 อำเภอ พื้นที่รวม 1.4 ล้านไร่ จากสถานการณ์การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังพบการระบาดในพื้นที่ 28 อำเภอ จำนวน 76,155 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 5.4 ของพื้นที่ โดยมีหลายอำเภอพบการระบาด อาทิ อำเภอเสิงสาง มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 114,366 ไร่ พื้นที่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง 3,822 ไร่ อำเภอครบุรี มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 192,645 ไร่ พื้นที่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง 12,204 ไร่ อำเภอเมืองนครราชสีมา มีพื้นที่ปลูก มันสำปะหลัง 32,767 ไร่ พื้นที่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง 3,277 ไร่ อำเภอหนองบุญมาก มีพื้นที่ปลูก มันสำปะหลัง 115,336 ไร่ พื้นที่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง 5,093 ไร่ และถึงแม้ว่าจังหวัดนครราชสีมาจะพบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูก แต่กรมส่งเสริมการเกษตรก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อรักษาศักยภาพในการผลิตมันสำปะหลังของจังหวัดนครราชสีมา ที่เกษตรกรมีประสิทธิภาพการผลิตที่สูง ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี และมีตลาด โรงงานรับซื้อผลิตผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรง” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

ทั้งนี้ โครงการรณรงค์เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังที่จัดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ร่วมงานประกอบด้วย ส่วนราชการระดับจังหวัด อำเภอ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ภาคเอกชนและผู้นำเกษตรกร เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักจะได้ร่วมกิจกรรมฐานการเรียนรู้ จำนวน 4 ฐาน ได้แก่ ฐานเรียนรู้ที่ 1 รู้จักโรคและแมลงพาหะ รวมถึงที่มาและความสำคัญของโรค โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดนครราชสีมา ฐานเรียนรู้ที่ 2 การสำรวจติดตามเฝ้าระวัง เกณฑ์การสำรวจ การประเมินพื้นที่ระบาดและการจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา ฐานเรียนรู้ที่ 3 ท่อนพันธุ์สะอาดและทนทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย (ศูนย์ฯ ห้วยบง) และฐานเรียนรู้ที่ 4 การป้องกันกำจัด เน้นการทำลายต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค มาตรการจัดการโรค การใช้ประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กจร.) เพื่อควบคุมการขนย้ายต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง การทำ มันสำปะหลังให้ทนทานโรคใบด่าง โดยสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา

******************************

พีรมณฑ์, กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ข่าว : กันยายน 65
กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย : ข้อมูล