“ลำไยกิโลกรัมละ 20 บาท แปรรูปเป็นลำไยอบแห้งสีทองกิโลกรัมละ 400 บาท แต่ถ้าเราทำฟรีสดรายเพิ่มรสชาติเข้าไปเช่นสตอรเบอรี่ ช็อกโกแลต เราขายได้ในราคากิโลกรัมละ 3,000 บาท” นี่คำคำพูดของ ว่าที่ รต.ชนะ ไชยชนะ ประธานแปลงใหญ่ลำไย หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ที่ขับเคลื่อนงานแปลงใหญ่ลำไยหมู่ที่ 3 อย่างเต็มกำลัง ความสามารถ
“เราไม่ได้คิดและทำอยู่แค่คนเดียวหรือกลุ่มเดียว แต่เรามีพี่เลี้ยงอย่างกรมส่งเสริมการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูนที่เข้ามาดูแลตลอด ที่สำคัญคือล่าสุดเราเข้าโครงการยกระดับแปลงใหญ่เราได้รับการสนับสนุนงบประมาณมาสามล้านบาท กรมส่งเสริมการเกษตรเหมือนมาพลิกชีวิตของเราเลย กลุ่มได้จัดซื้อเครื่องฟรีซดราย เป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากลำไย ไปได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้เรามีการจัดตั้งเป็นบริษัทวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ จำกัด”
ความเข้มแข็งของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ระดับประเทศ มาแล้ว สำหรับรางวัลดังกล่าว เป็นการคัดเลือกวิสาหกิจชุมชนที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีแนวโน้มการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นตัวอย่างหรือต้นแบบแก่วิสาหกิจชุมชนอื่นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันจะเป็นการกระตุ้นและพัฒนาประสิทธิภาพการประกอบการวิสาหกิจชุมชนให้เกิดความมั่นคง เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกียรติคุณของวิสาหกิจชุมชนที่มีผลงานดีเด่นสู่สาธารณชน
วิชัย ตู้แก้ว เกษตรจังหวัดลำพูนกล่าวว่า กลุ่มแปลงใหญ่ลำไย หมู่ที่ 3 มีสมาชิกอยู่ 30 ราย มีเนื้อที่อยู่ 304 ไร่ จุดเด่นของกลุ่มมีการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นไปตามกรอบแผนงานของการส่งเสริมแปลงใหญ่ 5 ด้าน โดยเฉพาะเรื่องการลดต้นทุนการผลิตของกลุ่มถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก เกษตรกรมีการรวมตัวกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภัณฑ์ใช้กันเอง โดยคัดเลือกสูตรที่ตอบสนองต่อการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับลำไยโดยเฉพาะ ทำให้ลดการใช้สารเคมีลง ที่สำคัญคือการนำหลักการตลาดนำการผลิต การคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ลำไยให้ได้คุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด
“สิ่งที่น่าชื่นชมของแปลงใหญ่ลำไย หมู่ที่ 3 คือ การบริหารจัดการและการประสานงานไปยังเครือข่ายกลุ่มแปลงใหญ่อื่น เมื่อกลุ่มได้รับเครื่องอบแห้ง Freez Drying ซึ่งสามารถแปรรูปสินค้าเกษตร ได้หลากหลายมากขึ้นเช่น ลำไย มะม่วง หอมแดง กระเทียม ลำไยสอดใส้ชนิดต่างๆ นอกจากนั้นยังสามารถขับเคลื่อนงานด้านเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดลำพูน ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์จำหน่าย โดยจำแนกสินค้าแบบอินทรีย์ และ GAP มีการรับซื้อลำไยสดมัดปุ๊ก ลำไยร่วง ลำไยแช่แข็ง ส่งให้กับแผงค้าในตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง ตลาด อตก. ลำไยอบฟรีซดรายออร์แกนิคและลำไยสอดไส้สตรอเบอรี่ จัดส่งวางช็อปออร์แกนิค จำหน่ายในประเทศใต้หวัน ประเทศจีนและฮ่องกง และลูกค้าทั่วไป” เกษตรจังหวัดลำพูนกล่าว