นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย มีบทบาทในการช่วยส่งเสริมความรู้ ทักษะ และเทคโนโยลีสมัยใหม่ให้เกษตรกรผู้ทำนาเกลือสามารถพัฒนาการประกอบอาชีพการทำนาเกลือให้ได้รับมาตรฐานสากล โดยในปี 2565 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการขับเคลื่อนพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกรในโครงการพัฒนาเกลือทะเลครบวงจร ควบคู่ไปกับการบริการจัดการและขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านเกลือทะเล มีทักษะความสามารถด้านต่างๆ รวมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และวางแผนการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการเกลือทะเลไทยไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งผลการดำเนินงานที่สำเร็จโดดเด่นเป็นรูปธรรม ได้แก่ การจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาเกลือทะเลไทย ปีงบประมาณ 2566 – 2570 โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้เกลือทะเลมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีตลาดที่หลากหลาย ราคามีเสถียรภาพ และพื้นที่นาเกลือมีการจัดการที่เหมาะสม เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้หารือร่วมกับสถาบันเจ้าหนี้และเกษตรกรเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินร่วมกันเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย ฟื้นฟูพิธีทำขวัญเกลือ ทำให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่พี่น้องเกษตรกรชาวนาเกลือทั่วประเทศ ยกระดับมาตรฐานเกลือทะเลไทยให้มีการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP สำหรับการทำนาเกลือทะเล ในปี 2565 มีเกษตรกรได้รับการรับรองแล้วถึง 11 ราย พื้นที่ 809.39 ไร่
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ยังร่วมผลักดันให้มีการควบคุมการนำเข้าเกลือทะเล โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้เกลือเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร และประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง การขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้า ซึ่งเป็นการป้องกันเกลือล้นตลาดทำให้เกลือในประเทศราคาตกต่ำ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาเกลือทะเล ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญจากภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ ในการหามาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดกับเกลือทะเลไทย ซึ่งดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาเกลือทะเล ปี 2564 เพื่อแก้ไขปัญหาราคาเกลือตกต่ำ และผลผลิตค้างสต็อก โดยชดเชยส่วนต่างราคาขายเกลือทะเลให้กับเกษตรกร 111 ราย ระบายเกลือทะเลได้ กว่า สามหมื่นเก้าพันตัน ใช้เงินชดเชย 9.9 ล้านบาท ส่งผลให้ราคาเกลือมีการปรับตัวสูงขึ้นจากเดิมในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 กิโลกรัมละ 0.51 บาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 1.71 บาท ในเดือนสิงหาคม 2565 และได้จัดทำแนวทางการปฏิบัติงานและเกณฑ์การพิจารณาความเสียหายสำหรับบรรจุในคู่มือการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร โดยช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เสียหายจริง ในอัตราไร่ละ 1,220 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ซึ่งในปี 2565 มีเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี ได้รับการช่วยเหลือแล้ว ๘0 ราย พื้นที่ ๗๑๙.๕๐ ไร่ เป็นเงินรวม ๘๗๗,๗9๐ บาท รวมทั้ง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยงานภาคีและเกษตรกร เพื่อเชื่อมโยงการผลิตเกลือกับผู้ประกอบการที่ใช้เกลือเป็นวัตถุดิบและผู้ค้าส่งเกลือทะเล และสนับสนุนการนำวัสดุเหลือใช้จากนาเกลือทะเลมาใช้ในการผลิตไม้ผลตามหลักตลาดนำการผลิต
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร เตรียมดำเนินโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเกลือทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอย่างยั่งยืน เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตเกลือทะเลให้สอดคล้องกับนโยบายเกษตรสมัยใหม่ ด้วยการปูผ้าใบในพื้นนาเกลือ ปรับปรุงยุ้งฉางเก็บเกลือ และเทคโนโลยีการผลิตที่เกี่ยวข้อง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล สร้างโอกาสให้เกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเลสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน เพิ่มช่องทางการตลาดให้กับเกลือทะเลไทย โดยหาแนวทางการส่งออกเกลือทะเลไปต่างประเทศเพื่อใช้งานด้านต่างๆ เช่น เกลือสำหรับละลายหิมะบนถนนหรือรันเวย์สนามบิน เป็นต้น พร้อมส่งเสริมการยกระดับนาเกลือให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนของชุมชน จึงได้มีการส่งเสริมและพัฒนานาเกลือทะเลให้เป็นมรดกทางการเกษตรโลก โดยส่งบุคลากรเข้าอบรมออนไลน์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ระบบมรดกทางการเกษตรของโลก ร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นแนวทางในการขึ้นทะเบียนระบบมรดกทางการเกษตรของโลกในประเทศไทยต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อมุ่งเน้นขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพและกระบวนการผลิตเกลือทะเลและผลิตภัณฑ์ ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เพิ่มมูลค่าและเพิ่มช่องทางการตลาดให้หลากหลายขึ้น รวมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูลเกษตรกร ข้อมูลเกลือทะเล เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเกลือทะเลได้ทั้งระบบ อันจะเป็นการยกระดับการทำนาเกลือทะเลให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน สมดังวิสัยทัศน์ที่ว่า “เกลือทะเลไทยได้มาตรฐานและคุณภาพระดับสากล”
*************************
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์: นาฏสรวง/ข่าว กันยายน 2565
ที่มา : คณะทำงานพัฒนาเกลือทะเลไทย กรมส่งเสริมการเกษตร