กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าทำงานเชิงรุกให้คำแนะนำและแก้ปัญหาด้านอารักขาพืชแก่เกษตรกรผ่านการให้บริการคลินิกพืช 968 คลินิก ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเกษตรกรสามารถนำตัวอย่างหรือภาพถ่ายของพืชที่แสดงอาการผิดปกติหรือแมลงที่พบในแปลงปลูกมาขอรับบริการตรวจวินิจฉัยกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร พร้อมรับคำแนะนำการจัดการศัตรูพืชที่เหมาะสมนำไปปฏิบัติได้ในพื้นที่
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การผลิตสินค้าเกษตรในปัจจุบันพบปัญหาการเข้าทำลายของศัตรูพืชอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีศัตรูพืชอุบัติใหม่ และศัตรูพืชที่เคยระบาดกลับมาระบาดซ้ำอีกในพื้นที่เดิม เนื่องจากเกษตรกรมีการจัดการที่ไม่เหมาะสม ใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์รุนแรงป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ไม่พักแปลงปลูกหรือปรับปรุงบำรุงดิน และปลูกพืชชนิดเดิมซ้ำๆ ส่งผลให้พืชอ่อนแอ หรือเจริญเติบโตผิดปกติ ศัตรูธรรมชาติลดลง นอกจากนี้ยังเกิดสารพิษตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ อากาศ สัตว์ พืช และตัวเกษตรกรเอง
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานคลินิกพืชระดับพื้นที่ เพื่อให้บริการวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืชเบื้องต้นให้กับเกษตรกร พร้อมให้คำแนะนำการจัดการศัตรูพืชแก่เกษตรกร โดยยึดการจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสานที่มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับบริบทของเกษตรกรและพื้นที่ เปิดให้บริการคลินิกพืชในทุกพื้นที่ รวมทั้งสิ้น 968 คลินิก ประกอบด้วย คลินิกพืชระดับภูมิภาค เปิดให้บริการอยู่ที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช 9 ศูนย์ ครอบคลุมทุกภูมิภาค สามารถวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืชทั้งในภาคสนามและในระดับห้องปฏิบัติการจากนักวิชาการด้านอารักขาพืช รวมถึงให้คำแนะนำการจัดการศัตรูพืชได้ครอบคลุมทุกด้าน สนับสนุนชีวภัณฑ์พื้นฐานที่จำเป็น แมลงศัตรูธรรมชาติ และสารสกัดธรรมชาติ คลินิกพืชระดับจังหวัด ให้บริการอยู่ที่กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัด ทุกจังหวัด สามารถวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืช โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ของจังหวัดโดยเน้นการวินิจฉัยภาคสนาม ให้คำแนะนำการจัดการศัตรูพืชได้ครอบคลุมทุกด้าน มีการสนับสนุนชีวภัณฑ์บางชนิดที่เหมาะสมกับการควบคุมศัตรูพืชในพื้นที่ และคลินิกพืชระดับอำเภอ เปิดให้บริการอยู่ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ 882 อำเภอ ทั่วประเทศ สามารถวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ โดยเน้นการวินิจฉัยภาคสนาม และสามารถให้คำแนะนำได้ครอบคลุมทุกด้าน
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยอีกว่า การดำเนินงานคลินิกพืชจะเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เพื่อให้สามารถบริการตรวจวินิจฉัยศัตรูพืชให้กับเกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ หากคลินิกพืชระดับอำเภอไม่สามารถวินิจฉัยได้ทันที จะทำการส่งตัวอย่างพืชพร้อมข้อมูลและภาพถ่ายให้กับคลินิกพืชระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค และหน่วยงานส่วนกลางโดยกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ไปจนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน หรือสถาบันการศึกษาที่มีห้องปฏิบัติการและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่วยทำการตรวจสอบ และติดตามผลการวินิจฉัยเพื่อแจ้งให้เกษตรกรหรือผู้ขอรับบริการทราบต่อไป
“นอกจากให้บริการคลินิกพืชประจำตามสถานที่ข้างต้นแล้ว ยังมีเป้าหมายให้ทุกพื้นที่สามารถดำเนินงานด้านอารักขาพืชร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ ของกรมส่งเสริมการเกษตร ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) รวมถึงการให้บริการนอกสถานที่ เช่น งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ หรือฟิลด์เดย์ (Field Day) งานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ หรือจังหวัดเคลื่อนที่ และงานอำเภอยิ้มเคลื่อนที่ เพื่อการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่และสะดวกในการเดินทางมาขอรับบริการของเกษตรกรหรือผู้สนใจ” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
สำหรับเกษตรกรหรือผู้สนใจเข้ารับบริการคลินิกพืช ต้องเตรียมตัวอย่างพืชที่แสดงอาการผิดปกติ หรือแมลงที่พบในแปลงปลูก หรือภาพถ่ายพืชที่แสดงอาการผิดปกติที่ชัดเจน พร้อมประวัติการปลูกพืชและข้อมูลการดูแลรักษาพืช เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้ประกอบการวินิจฉัย และอาจมีการลงสำรวจในแปลงของเกษตรกรเพิ่มเติม เพื่อนำมาซึ่งผลการวินิจฉัยที่มีความถูกต้อง พร้อมให้คำแนะนำการจัดการศัตรูพืชได้อย่างทันท่วงที
***************************
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์: นาฏสรวง/ข่าว กันยายน 2565
ที่มา : กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร