เกษตรฯ เพิ่มประสิทธิภาพผู้นำกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสตรีในภาคเกษตร ซึ่งถือเป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนการเกษตร และเศรษฐกิจฐานรากของไทย และได้กำหนดนโยบายให้ ปี 2566 เป็น “ปีแห่งการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร” โดยจะขับเคลื่อนและพัฒนากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผ่าน 5 แผนงาน ดังนี้ 1) การพัฒนาศักยภาพกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร พัฒนากลุ่มเป็น Smart group มีความสามารถในการวิเคราะห์และวางแผนเพื่อการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ 2) การส่งเสริมด้านตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรและให้ตรงกับความต้องการของตลาด  3) การส่งเสริมและพัฒนาการกระบวนการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตรงกับความต้องการของตลาดและแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำในช่วงฤดูกาล 4) การส่งเสริมความมั่นคง ด้านอาหารในครัวเรือนและชุมชน สร้างแหล่งอาหารในพื้นที่เพื่อการบริโภค รวมถึงการสร้างรายได้ และลดรายจ่ายในครัวเรือนเกษตรกรและชุมชน 5) การสร้างภาวะผู้นำในกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรให้สามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับพื้นที่และสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายภาคการเกษตรระดับประเทศเพื่อเป็นผู้นำการพัฒนาสู่ชุมชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เป้าหมายในการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานดังกล่าว จะก่อให้เกิดความเข้มแข็งของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ส่งผลให้แม่บ้านเกษตรกรและครอบครัวเกษตร ชุมชนเกษตร มีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรายได้ที่มั่นคงและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เกิดการพัฒนาภาคเกษตรและประเทศอย่างยั่งยืน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ปี 2566 เป็น “ปีแห่งการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร”  จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัด ได้ร่วมกันฟื้นฟูการดำเนินงานของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในทุกอำเภอให้มีความเข้มแข็ง มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น มีองค์ความรู้สามารถแปรรูป จัดทำบรรจุภัณฑ์ ทำการตลาด พัฒนาการขนส่งสินค้าให้มีคุณภาพและทันสมัย ตลอดจนการเสริมความรู้เรื่องการใช้สื่อ social media เพื่อให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรด้วยกัน รวมทั้งพัฒนาช่องทางการตลาด และขายสินค้าผ่านข่องทางออนไลน์ได้ต่อไป

ด้าน นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ทำการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2513 ในปัจจุบันมีกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่ได้ทำการจดทะเบียนแล้ว จำนวน 10,959 กลุ่ม สมาชิก จำนวน 293,897 คน ทั่วประเทศ ซึ่งการส่งเสริมสตรีในภาคเกษตรมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ก็เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือนเกษตรกรสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งผลให้ครอบครัวเกษตรกรและชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และการที่ผู้นำกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมีศักยภาพในการขับเคลื่อนภาคเกษตรในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงจัดสัมมนาเพิ่มประสิทธิภาพผู้นำกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนขึ้น ระหว่างวันที่ 27 – 28 กันยายน 2565 ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ประธานกรรมการกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรระดับจังหวัด ผู้นำกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรและเคหกิจเกษตรระดับจังหวัด เขต และส่วนกลาง จำนวนทั้งสิ้น 260 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ได้รับทราบนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาบทบาทของสตรีในภาคการเกษตรของประเทศไทย เสริมสร้างศักยภาพของผู้นำกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรให้มีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดออนไลน์และตลาดโมเดิร์นเทรด ได้มาพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความเรียนรู้ ประสบการณ์ การเชื่อมโยงเครือข่าย และศึกษาดูงานผลสำเร็จของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทั่วประเทศ ตลอดจนเพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติ และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้นำกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเพื่อนำความรู้และประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตร และการปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคเกษตรต่อไป

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคุณสมบัติของเกษตรกรที่สนใจจะสมัครเข้าร่วมเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ท่านสามารถรวมตัวกันกับกลุ่มแม่บ้านที่ทำอาชีพด้านการเกษตรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ตำบลเดียวกัน ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป จะสามารถยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรได้ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน และจะมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่ไปช่วยในด้านการพัฒนาอาชีพของกลุ่มต่อไป