กรมส่งเสริมการเกษตร เผยผลประเมินโครงการยกระดับแปลงใหญ่อยู่ในระดับ A ตามหลักเกณฑ์ OECD ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง

          ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด เป็นโครงการสำคัญภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้านการเกษตร และได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม รวมทั้งเครือข่ายความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการร่วมกันบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ และยกระดับการผลิตไปสู่สินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และยาที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

          นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากผลการประเมินการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งพิจารณาตามหลักเกณฑ์การประเมินผลของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง โดยใช้หลักเกณฑ์ภายใต้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization For Economic Co – Operation and Development : OECD – DAC) 5 ด้าน ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัด 70 จังหวัดที่มีกลุ่มแปลงใหญ่เข้าสมัครเข้าร่วมโครงการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานเจ้าของสินค้าทั้ง 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมหม่อนไหม และการยางแห่งประเทศไทย  จำนวน 280 ราย ประธาน/คณะกรรมการกลุ่มเกษตรกร จำนวน 280 ราย และเกษตรกรจำนวน 1,400 ราย รวมทั้งสิ้น 2,030 ราย ผลการประเมิน พบว่า โครงการยกระดับแปลงใหญ่ฯ ได้คะแนนรวม 95.69 คะแนน ซึ่งอยู่ในเกรด A เป็นโครงการที่มีความโดดเด่น โดยรายละเอียดทั้ง 5 ด้าน มีดังนี้

ด้านที่ 1 ความสอดคล้อง (Relevance) ร้อยละ 93.42 (ได้ 31.14 คะแนน จาก 33.33 คะแนน) เนื่องจากโครงการมีความสอดคล้องกับนโยบาย/แผนยุทธศาสตร์ชาติในการฟื้นฟูประเทศหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสอดคล้องกับสถานการณ์กลุ่มเป้าหมาย ที่โครงการจะสามารถนำมาต่อยอดการพัฒนากลุ่มในการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร ลดค่าใช้จ่ายการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร รวมทั้งเชื่อมโยงตลาด

ด้านที่ 2 ประสิทธิผล (Effectiveness) ร้อยละ 93.99 (ได้ 31.33 คะแนน จาก 33.34 คะแนน) การบรรลุเป้าหมายโครงการ กลุ่มแปลงใหญ่ผ่านการอนุมัติเข้าร่วมโครงการ จำนวน 3,377 แปลง (จากที่ยืนยันโครงการ 3,381 แปลง) โดยกลุ่มแปลงใหญ่จัดซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร เครื่องมือ/อุปกรณ์ ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ และดำเนินการในทุกขั้นตอนแล้วเสร็จทั้งหมด ระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากขึ้นไป ที่ร้อยละ 91.22 เนื่องจากโครงการสนับสนุนตามความต้องการของกลุ่มอย่างแท้จริง ส่งผลให้กลุ่มสามารถพัฒนาไปสู่ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร มีเงินทุนหมุนเวียน รายได้ที่เพิ่มขึ้น ระดับความรู้ความเข้าใจขั้นตอนการดำเนินงาน พบว่า ความรู้ความเข้าใจในระดับมากขึ้นไป ที่ร้อยละ 87.74 เนื่องจากมีการดำเนินการตามคู่มือโครงการ และหน่วยงานในพื้นที่เข้ามาดูแลให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง ประธาน/คณะกรรมการกลุ่มมีประสบการณ์ และเรียนรู้เพิ่มเติมจากสื่อต่าง ๆ การบรรลุวัตถุประสงค์โครงการ มีเกษตรกรที่ได้ใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรแล้วร้อยละ 54.14 โดยเกษตรกรในกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายการผลิตที่ลดลงร้อยละ 91.87 เบื้องต้นกลุ่มสินค้าข้าว ลดลง 143 บาทต่อไร่ กลุ่มพืชไร่ ลดลง 297 บาทต่อไร่ กลุ่มไม้ยืนต้น ลดลง 165 บาทต่อไร่ กลุ่มไม้ผล ลดลง 418 บาทต่อไร่ กลุ่มพืชผัก/สมุนไพร ลดลง 320 บาทต่อไร่ กลุ่มหม่อนไหม (หม่อนผลสด) ลดลง 242 บาทต่อไร่ กลุ่มประมง ลดลง 5,133 บาทต่อไร่ กลุ่มปศุสัตว์ โคนม ลดลง 0.66 บาทต่อกิโลกรัม โคเนื้อ ลดลง 1,056 บาทต่อตัว แพะ ลดลง 41 บาทต่อตัว ไก่พื้นเมือง ลดลง 24 บาทต่อตัว ด้านการตลาด กลุ่มแปลงใหญ่ร้อยละ 79.95 มีการเชื่อมโยง ขายสินค้าจากแปลงใหญ่ เช่น โรงสี ตลาด Modern Trade บริษัท/ห้างร้าน พ่อค้าในท้องถิ่น เป็นต้น

ด้านที่ 3 ประสิทธิภาพ (Efficiency) ร้อยละ 99.68 (ได้ 33.22 คะแนน จาก 33.33 คะแนน) โดยพิจารณาในด้านงบประมาณ กลุ่มแปลงใหญ่ได้รับงบประมาณแล้ว ทุกแปลง จำนวน 9,363.4066 ล้านบาท งบประมาณ เบิกจ่าย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 9,304.4701 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.37 ด้านระยะเวลา ขั้นตอนการดำเนินงานตั้งแต่การทบทวนรายละเอียดโครงการ จนถึงขั้นตอนการจัดทำรายงานการใช้จ่ายงบประมาณ และได้รับการตรวจเอกสารทางบัญชี ดำเนินการทันตามระยะเวลาทั้งหมด

ด้านที่ 4 ผลกระทบ (Impact) เนื่องจากโครงการเพิ่งเริ่มดำเนินการได้เพียง 1 ปี ผลกระทบจึงยังไม่เกิดขึ้นในช่วงการประเมินผล

ด้านที่ 5 ความยั่งยืน (Sustainability) การจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ประเภทนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นการคัดกรองกลุ่มแปลงใหญ่ที่มีความพร้อม และต้องการที่จะพัฒนากลุ่มให้มีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง ต่อยอดสิ่งที่ได้รับการสนับสนุน เครื่องจักรกลทางการเกษตร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ไปสู่ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร และสร้างรายได้ให้กับกลุ่มแปลงใหญ่ได้อย่างยั่งยืน

          อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับข้อค้นพบ ข้อเสนอแนะ พบว่า โครงการยกระดับแปลงใหญ่ฯ เป็นโครงการที่เกษตรกรพอใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากโครงการสนับสนุนตรงจุดความต้องการของกลุ่มเกษตรกรอย่างแท้จริงในการต่อยอดการพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร การลดค่าใช้จ่ายการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร และการเชื่อมโยงตลาด ซึ่งนำไปสู่การบริหารเงินทุนหมุนเวียนในรูปของผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรแปลงใหญ่ ทั้งนี้การดำเนินงานโครงการเป็นปีแรก การสื่อสารสร้างความเข้าใจในขั้นตอนการดำเนินงาน บางกลุ่มยังขาดความเข้าใจ ความชัดเจนในการดำเนินงาน รวมทั้งการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ประเภทนิติบุคคล ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นสิ่งใหม่สำหรับกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งระยะเวลาการดำเนินการโครงการค่อนข้างจำกัด ในกิจกรรมการก่อสร้างและการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ ดังนั้น หากมีการดำเนินการในระยะต่อไป ควรพิจารณาปรับปรุงคู่มือการดำเนินงานให้มีความครอบคลุม และมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติให้ทุกกลุ่มแปลงใหญ่ยึดปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งวางแผนการดำเนินงานโครงการให้เป็นไปตามกำหนดระยะเวลาโครงการที่กำหนดไว้ และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อรองรับมาตรการ หรือโครงการต่าง ๆ ที่เข้าไปต่อยอดให้กลุ่มแปลงใหญ่ต่อไป