ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้ทุกหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมบูรณาการเพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้ได้มากที่สุด และมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรจัดทีมลงสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมให้คำปรึกษา แนะนำ และให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้นร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในส่วนของผลการสำรวจในพื้นที่พบว่า
ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2565 พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากอุทกภัยแล้ว จำนวน 49 จังหวัด มีพื้นที่การเกษตรคาดว่า
จะเสียหาย จำนวน 3,150,022.75 ไร่ แบ่งออกเป็น ภาคเหนือ 16 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ภาคตะวันตก 4 จังหวัด ภาคใต้ 1 จังหวัด โดยแยกเป็น ข้าว 1,815,951.50 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,306,371.00 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 27,700.25 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 358,581 ราย
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ แล้ว 33 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ อุทัยธานี กรุงเทพ ชัยนาท ปทุมธานี อยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี จันทบุรี ระยอง สระแก้ว กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา เลย บุรีรัมย์ หนองคาย หนองบัวลำภู สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม สุพรรณบุรี และจังหวัดภูเก็ต
สำหรับเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช ยังคงเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย มีพื้นที่เสียหายจริง อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ และให้การช่วยเหลือไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ โดยมีอัตราดังนี้ ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการเร่งรัดให้สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องแล้ว การเตรียมความพร้อมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตรหลังเหตุอุทกภัยคลี่คลาย ได้มีมาตรการรองรับเรียบร้อยแล้ว ทั้งการเตรียมสำรองพืชพันธุ์ดี ทดแทนต้นพันธุ์ที่ได้รับความเสียหาย ประกอบด้วย เมล็ดพันธุ์พืชผัก 367,400 ซอง ต้นพันธุ์พืชผัก 106,300 ต้น และต้นพันธุ์ไม้ผลไม้ยืนต้น 9,660 ต้น และการเตรียมผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา ได้แก่ เชื้อพร้อมใช้ 8,200 กิโลกรัม และหัวเชื้อชั้นขยาย 11,500 ขวด ซึ่งเชื้อราไตรโคเดอร์มา สามารถใช้ในการควบคุมโรคพืชได้หลายชนิด ทั้งบริเวณราก ลำต้น และใบ เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคใบติดของทุเรียน โรคเน่าคอดิน โรคกาบใบแห้งของข้าว โรคเหี่ยว โรคแอนแทรคโนสของพริก เป็นต้น โดยสำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรต่อไป