อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นำทีมเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเร่งเยียวยาเกษตรกรหลังน้ำลดทันที พร้อมสั่งให้พื้นที่ใกล้เคียงเตรียมความพร้อมสนับสนุนพืชพันธุ์ดีและชุดชีวภัณฑ์เชื้อราไตรโคเดอร์มาให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เพื่อความรวดเร็วในการเยียวยาเกษตรกรหลังน้ำลด จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานของกรมส่งเสริมการเกษตรทุกแห่งเตรียมดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ประสบภัย ทั้งการเข้าสำรวจพื้นที่ภายหลังน้ำลด การจัดเตรียมเชื้อราไตรโคเดอร์มา จากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการอารักขาพืช (ศทอ.) การจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์และต้นพันธุ์พืช ภายใต้โครงการผลิตพืชพันธุ์ดีสำรองใช้ในกรณีช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยและใช้ในภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร ได้แก่ เมล็ดพันธุ์พืชผัก ประกอบด้วยพริก มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู และกระเจี๊ยบเขียว ต้นพันธุ์พืชผักพืชอาหาร และต้นพันธุ์ไม้ผลไม้ยืนต้นจากศูนย์ขยายพันธุ์พืช (ศขพ.)
ทั้งนี้ จากการรายงานสถานการณ์ในพื้นที่เกษตร (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2565) พื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ คาดว่าจะมีพื้นที่เกษตรที่ได้รับความเสียหายจำนวน 323,416 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 297,608 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 24,795 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 1,013 ไร่และเกษตรกรได้รับผลกระทบ 51,612 ราย
ส่วนในภาพรวมพื้นที่เกษตรทั่วประเทศได้รับผลกระทบ มีจำนวน 58 จังหวัด โดยคาดว่าจะมีความเสียหายจำนวน 5,190,233.50 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 3,465,053.50 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,645,440.00 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 79,740.00 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบรวม 621,265 ราย และมีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือแล้ว 52 จังหวัด (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2565 เวลา 14.00 น.)
นายเข้มแข็ง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่องการเยียวยาเกษตรกรจะเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2564 โดยมีอัตราการช่วยเหลือดังนี้ ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่ และไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย มีพื้นที่เสียหายจริง และอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ