อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรขานรับข้อสั่งการรัฐมนตรีเกษตร นำทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่พบปะและมอบปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกร กำชับเจ้าหน้าที่ทุกพื้นที่ประสบภัยเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรซึ่งในเบื้องต้นมีรายงานพื้นที่ที่คาดว่าจะเสียหายทั่วประเทศประมาณ 5.1 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบประมาณ 6.2 แสนราย (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2565) จึงสั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งลงพื้นที่สำรวจความเสียหายหลังน้ำลดลง โดยขณะนี้มีบางพื้นที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชาคมเพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูลความเสียหายแล้ว และนอกจากกรมส่งเสริมการเกษตรจะเร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่เสียหายเพื่อเสนอขอรับความช่วยเหลือให้กับเกษตรกรแล้วนั้น หน่วยงานของกรมส่งเสริมการเกษตรที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการผลิตปัจจัยการผลิต เช่น ศูนย์ขยายพันธุ์พืช (ศขพ.) 10 แห่ง ได้จัดเตรียมเมล็ดพันธุ์และต้นพันธุ์พืช ภายใต้โครงการผลิตพืชพันธุ์ดีสำรองใช้ในกรณีช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยและใช้ในภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตรไว้พร้อมแล้ว ซึ่งเป็นพืชอายุสั้นที่เกษตรกรสามารถนำไปปลูกเพื่อเป็นอาหาร ลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว และเพิ่มรายได้ เช่น เมล็ดพันธุ์พืชผัก ประกอบด้วย พริก มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู และกระเจี๊ยบเขียว ต้นพันธุ์พืชผักพืชอาหาร และต้นพันธุ์ไม้ผลไม้ยืนต้น รวมทั้งศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านการอารักขาพืช (ศทอ.) 9 แห่ง ยังได้ดำเนินการจัดเตรียมเชื้อราไตรโคเดอร์มา ทั้งแบบพร้อมใช้ และหัวเชื้อขยาย พร้อมสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรนำใช้ในการฟื้นฟูป้องกันเชื้อสาเหตุโรคพืชสำหรับพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลหลังน้ำลด
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ไปพบปะให้กำลังใจและมอบปัจจัยการผลิตให้กับพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 26 – 27 ตุลาคม 2565 พบว่า พื้นที่บางส่วนระดับน้ำลดลงแล้ว จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเร่งลงพื้นที่ไปสำรวจความเสียหาย พร้อมกับชี้แจงหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ และจัดประชุมเตรียมความพร้อมการฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกรร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งในเบื้องต้นพบว่าพื้นที่ที่คาดว่าจะเสียหายส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าว โดยขั้นตอนต่อไปคือการจัดทำประชาคมเพื่อตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของข้อมูล และเสนอคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามลำดับต่อไป
ทั้งนี้ การเยียวยาเกษตรกรจะเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยมีอัตราการช่วยเหลือดังนี้ ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่ และไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย มีพื้นที่เสียหายจริง และอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือแล้ว