นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” และนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0” ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมุ่งพัฒนาการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก และยกระดับสู่เกษตรมูลค่าสูงตามหมุดหมายใหม่ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 โดยใช้แนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในรูปแบบคาแรคเตอร์มาเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรของเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์และสถาบันเกษตรกร รวมทั้งการส่งเสริมสตาร์ทอัพเกษตรรุ่นใหม่ ซึ่งจากข้อมูลของสมาคมลิขสิทธิ์นานาชาติหรือ LIMA ระบุว่า สำหรับปี 2021 จากภาพรวมของสินค้าและบริการที่นำเอาลิขสิทธิ์ของผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ในโลก ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ มีมูลค่า 315.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นมาจากปี 2019 ที่มีมูลค่า 292.8 พันล้านเหรียญ คือ ภายในสองปีเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 7.75 แม้จะเป็นช่วงที่มีสถานการณ์ระบาดของโคโรนาไวรัสทั่วโลกก็ตาม นอกจากนี้มูลค่าของค่าลิขสิทธิ์ผลงานสร้างสรรค์ในช่วงเวลาเดียวกัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 โดยมีมูลค่าราว 17.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจาก 10 ประเภทของผลงานสร้างสรรค์ที่ถูกจำแนกไว้นั้น ประเภทที่มูลค่าสูงสุดถึง 129.9 พันล้านเหรียญ หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของทุกประเภท ก็คือคาแรคเตอร์นี่เอง เพราะคาแรคเตอร์เป็นผลงานสร้างสรรค์ที่นำเอาไปใช้ได้ง่าย และเข้าถึงผู้บริโภคได้หลากหลายวิธีที่สุด ทั้งในรูปแบบการผลิตเป็นของเล่น เป็นภาพหรือลวดลายกราฟิกส์ที่เกี่ยวข้องบนเสื้อผ้าแฟชั่น หรืออยู่บนข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ทั่วไปรอบตัวเรา ที่น่าสนใจคือในประเทศไทยมูลค่าการใช้คาแรคเตอร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกราวร้อยละ 20 (ร้อยละ 62 ของมูลค่ารวมโดยประมาณ) ติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องหลายปีมาก ซึ่งจะสังเกตจากภาพการใช้คาแรคเตอร์มาส่งเสริมการขายและการตลาดของภาคธุรกิจในประเทศไทยได้ไม่ยากเลยในหลากหลายประเภทสินค้าที่อยู่ในร้านสะดวกซื้อ ตามกิจกรรมการตลาดที่ประชาสัมพันธ์ออกมาตามสื่อต่าง ๆ หรือในการนำไปผลิตเป็นสินค้า ตลอดจนใช้ในการประชาสัมพันธ์การบริการต่าง ๆ ซึ่งเกือบทั้งหมดก็จะเป็นคาแรคเตอร์ชั้นนำ ที่ได้รับความนิยมจากต่างประเทศที่เรารู้จักกันดี โดยแทบจะไม่มีคาแรคเตอร์ไทยไปแชร์ส่วนแบ่งตรงนี้ได้ โดยผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถาม เพื่อซื้อหรือขอใช้ลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ไปใช้ในการพัฒนาสินค้า โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะขยายผลความร่วมมือนี้ให้กระจายไปสู่พี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการทั่วประเทศต่อไป
ด้าน นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตรได้กำหนดจัดกิจกรรม Agriproducts X Character Market “ตลาดนัดสินค้าเกษตร X คาแรคเตอร์” ขึ้น ระหว่างวันที่ 18 – 20 พฤศจิกายน 2565 ณ บริเวณตลาดน้ำ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาสินค้าเกษตรให้เป็นอัตลักษณ์ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เพิ่มโอกาสทางด้านการตลาดให้กับเกษตรกรและสินค้าเกษตร ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเป็นการส่งเสริมและสร้างช่องทางในการนำคาแรคเตอร์ (character) ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม พัฒนาเกษตรกร/ผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้เกิดการนำกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างนวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนเพื่อให้เกิดการใช้งานคาแรคเตอร์ (character) กับสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชนทั่วประเทศ โดยภายในงานจะมีการคัดเลือกคาแรคเตอร์มาจัดแสดง และนำสินค้าเกษตรที่ผลิตด้วยกระบวนการผลิตที่ปรับใช้คาแรคเตอร์เพื่อเพิ่มมูลค่า และสินค้าชุมชนกว่า 28 พื้นที่ทั่วประเทศ มาจัดแสดงและจำหน่ายด้วย
นอกจากนี้ ภายในงานมีสตาร์ทอัพ 3 ราย ที่จะนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การสร้างรูปแบบตลาดใหม่ให้กับชีวิตคนเมือง พร้อมสร้างคุณค่าใหม่ให้กับสินค้าเกษตรได้อย่างยั่งยืน ได้แก่
“ส่งสด” เป็นการรวบรวมสินค้าเกษตรคุณภาพดีจากตลาดสด ให้ได้ของสด ของดี มีคุณภาพครบส่งตรงถึงครัวคุณ ร้านอาหาร และทุกธุรกิจที่ต้องการสินค้าเกษตร เป็นการเพิ่มช่องการขายสินค้าเกษตรให้ถึงมือผู้ใช้งาน
“วาริชธ์” ที่มีบริการด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่มีครบถ้วนทุกมาตรฐานการผลิต ในการสร้างช่องทางตลาดออนไลน์ จนถึงการส่งออกไปต่างประเทศ ดังนั้นสินค้าเกษตรที่จะล้นตลาด สามารถมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและมีตลาดให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
“ซีวิค อโกรเทค” เป็นการทำฟาร์มปลูกพืชแนวตั้งในระบบปิดภายใต้แสงไฟเทียม ทั้งแบบโรงงานปลูกพืชระบบปิด และอุปกรณ์ตั้งโต๊ะ เพื่อผลิตผักที่ได้ปราศจากสารกำจัดศัตรูพืชและทานได้ทันทีโดยไม่ต้องล้าง ซึ่งผลงานของสตาร์ทอัพ 3 รายนี้ เกษตรกรสามารถนำมาปรับใช้ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตของตนเองได้ต่อไป