นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรเปิดรับสมัครเกษตรกรกว่า 3 พันราย เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถเลือกสมัครเข้าเรียนได้ทั้ง 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรช่างพื้นฐาน หลักสูตรช่างเน้นหนัก และหลักสูตรช่างแทรกเตอร์เพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ เกษตรกรผู้สนใจสามารถสมัครได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน ตั้งแต่วันนี้ – เดือนมีนาคม 2566 หรือจนกว่าจะครบจำนวนผู้สมัครในแต่ละหลักสูตร สำหรับรายละเอียด และระยะเวลาการรับสมัครของแต่ละหลักสูตร มีดังนี้
หลักสูตรพื้นฐาน เหมาะกับเกษตรกรที่ยังไม่เคยเข้าอบรม หรือไม่มีความรู้พื้นฐานด้านการซ่อมเครื่องยนต์ เปิดอบรมระหว่างเดือนธันวาคม 2565 – เมษายน 2566 ในหลักสูตรประกอบด้วย
1) การใช้งานเครื่องยนต์เกษตร และเครื่องจักรกลการเกษตร
2) การบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตรก่อนและหลังการใช้งาน
3) การเลือกใช้น้ำมันเครื่อง
4) การจำแนก และเลือกใช้อะไหล่ที่มีคุณภาพ
หลักสูตรเน้นหนัก เหมาะสำหรับเกษตรกรที่เคยได้รับการอบรมหลักสูตรพื้นฐาน หรือหลักสูตรช่างท้องถิ่นระดับ 1 หรือ ช่างท้องถิ่นระดับ 2 ของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ต้องการต่อยอดความรู้ เพิ่มทักษาะความเป็นช่าง โดยจะเปิดอบรมระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2566 หลักสูตรที่ใช้การฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรประกอบด้วย
1) หลักการทำงานของเครื่องยนต์เกษตร และเครื่องจักรกลการเกษตร
2) การใช้และบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตรอย่างถูกต้อง
3) วิธีการถอด – ประกอบเครื่องยนต์เกษตร และการใช้เครื่องมืออย่างถูกต้องและปลอดภัย
4) เทคโนโลยีเครื่องยนต์เกษตร
5) หลักการทำงานและส่วนประกอบของระบบเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์เกษตร
6) การตรวจสอบชิ้นส่วนและทดสอบการทำงานของระบบเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์เกษตร
7) การวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาการผิดปกติของการทำงานของเครื่องยนต์และชิ้นส่วนของเครื่องยนต์เกษตร
สำหรับหลักสูตรใหม่ในปีนี้คือ หลักสูตรแทรกเตอร์เพื่อการเกษตร เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีรถแทรกเตอร์ โดยจำเป็นต้องผ่านการอบรมหลักสูตรเน้นหนัก หรือช่างท้องถิ่นระดับ 3 ของกรมส่งเสริมการเกษตรมาแล้ว จะเปิดอบรมระหว่างเดือนเมษายน – เดือนกรกฎาคม 2566 หลักสูตรที่ใช้การฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรประกอบด้วย
1) ระบบการทำงานต่างๆ ของรถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตร
2) การใช้และบำรุงรักษารถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตรอย่างถูกต้อง
3) เทคโนโลยีรถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตร
4) การวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาการผิดปกติของรถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตรเบื้องต้น
นายเข้มแข็ง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำโครงการช่างเกษตรท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อสร้าง “ช่างเกษตรท้องถิ่น” ให้มีทักษะในการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตร โดยทั้ง 3 หลักสูตรจะมีรายละเอียดในการคัดเลือกและการเรียนรู้เน้นหนักแตกต่างกัน ซึ่งกรมมองว่าหากเกษตรกรมีความรู้ในเรื่องการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์เกษตรในเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง จะทำให้สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับตัวเกษตรกรเองได้ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง นอกจากนั้นเมื่อเกษตรกรมีความรู้และเชี่ยวชาญในการซ่อมบำรุงอุปกรณ์และเครื่องยนต์ทางการเกษตร ก็ยังสามารถประกอบอาชีพได้ เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มรายได้ในครอบครัวอีกด้วย