เฉลิมชัย เปิดตัวโครงการ “ต้นกล้าสานฝันปันรัก…สู่ลูกหลาน” สร้างระบบเกษตรกรรมให้ยั่งยืน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า 1 ใน 15 นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกร ครอบครัวเกษตรกร และชุมชนของเกษตรกร คือ การส่งเสริมการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำโครงการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกร เกิดการปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิถีการทำการเกษตร หันมาปลูกไม้มีค่า ไม้ผล ไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ และพืชผักพืชอาหาร ตามศักยภาพของที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง ทั้งเพื่อการออม และเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อความสมดุลของระบบนิเวศ และเป็นการใช้ประโยชน์จากการปลูกป่าตามหลักการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ได้ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ และไม้เศรษฐกิจ ซึ่งจะสามารถช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำได้อีกทางหนึ่ง

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรนำหลักการและแนวคิดตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาต่อยอดเป็นโครงการ “ต้นกล้าสานฝันปันรัก…สู่ลูกหลาน” โดยตั้งเป้าเปิดรับสมัครเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ กว่า 20,000 ราย ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจ ต้องเตรียมพื้นที่ให้มีสภาพเหมาะสม และเพียงพอในการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจ และพืชผักพืชอาหาร โดยสามารถนำไปปลูกในลักษณะแนวเดี่ยว ปลูกแบบผสมผสานกับพืชเดิม หรือปลูกสลับในพื้นที่นา พื้นที่สวนได้ตามความเหมาะสม

สำหรับพันธุ์ไม้ที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนั้น ดำเนินการผลิตโดยศูนย์ปฏิบัติการ และศูนย์ขยายพันธุ์พืชของกรมส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้ เป็นต้นกล้าไม้มีค่า ไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ (เช่น สัก พะยูง ประดู่ ชิงชัน ตะแบก เป็นต้น) โดยมีการแบ่งกลุ่มตามความเหมาะสมของพื้นที่ออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มแรก คือ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำเกษตรไม่เหมาะสม (Zoning)

กลุ่มสอง คือ เกษตรกรศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ต้นแบบ

โดยเกษตรกรทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะได้รับพันธุ์ไม้ รวมจำนวน 200 ต้นต่อราย แบ่งเป็น ไม้ผลและพืชผักอาหาร จำนวน 8 ชนิด ได้แก่ ไผ่ซางหม่น มะขามเปรี้ยวฝักใหญ่ มะม่วง สะเดา อะโวคาโด กล้วย พริก มะเขือ) และต้นกล้าไม้มีค่า ไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ

และ กลุ่มสาม คือ สมาชิกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเข้าร่วมกิจกรรมการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเกษตรกรผู้นำ (อบรม/ดูงาน) ภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยเกษตรกรจะได้รับพันธุ์ไม้ รวมจำนวน 50 ต้นต่อราย แบ่งเป็น ไม้ผลและพืชผักอาหาร จำนวน 5 ชนิด (มะขามเปรี้ยวฝักใหญ่ มะม่วง กล้วย พริก มะเขือ) และต้นกล้าไม้มีค่า ไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจ

นายเข้มแข็ง กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ “ต้นกล้าสานฝันปันรัก…สู่ลูกหลาน” ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างประโยชน์ให้แก่ เกษตรกร ครอบครัว ชุมชน ได้อย่างยั่งยืน โดยโครงการสามารถเห็นผลได้ในทุกระยะ ตั้งแต่ระยะที่หนึ่ง ที่เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากพืชผัก ระยะที่สอง ที่เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากไม้ผล และระยะที่สาม ที่เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากไม้เศรษฐกิจ ไม้ยืนต้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่อเนื่อง และยั่งยืนต่อไป