ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่มีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ตอนล่างของภาค ทำให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร และวิถีชีวิตของเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งดำเนินการลงพื้นที่ไปบูรณาการให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่เกษตรกรในเบื้องต้นแล้ว เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร และเตรียมการสำรวจความเสียหายทันทีหลังน้ำลด เพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการต่อไป
ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับรายงานพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช ระนอง พัทลุง และสงขลา เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 15,690 ราย มีพื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหายจำนวน 24,484.75 ไร่ แยกเป็นข้าว 5,376.75 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 3,347.00 ไร่ ไม้ผลไม้ผืนต้นและอื่นๆ 15,048.00 ไร่ (ข้อมูล ณ 12 ธันวาคม 2565) และขณะนี้อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าไปประสานการให้ความช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมการสำรวจและช่วยเหลือเกษตรกรรองรับภายหลังน้ำลด ทั้งการลงพื้นที่เพื่อสำรวจพื้นที่ความเสียหาย การเตรียมเชื้อราไตรโคเดอร์มา และการเตรียมผลิตพืชพันธุ์ดี ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร
สำหรับการสนับสนุนเชื้อราไตรโคเดอร์มา กรมส่งเสริมการเกษตร โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) จังหวัดสงขลา และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะสนับสนุนหัวเชื้อชั้นขยาย จำนวน 7,000 ขวด ซึ่งนำมาขยายเป็นเชื้อราไตรโคเดอร์มาพร้อมใช้ได้เพิ่มถึง 105,000 กิโลกรัม และพร้อมสนับสนุนเชื้อราไตรโคเดอร์มาพร้อมใช้ อีกจำนวน 3,000 กิโลกรัม รวมสามารถใช้ฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรหลังน้ำลดได้ประมาณ 108,000 ไร่ (เชื้อราไตรโคเดอร์มาพร้อมใช้ 1 กิโลกรัมสามารถใช้ได้กับพื้นที่ 1 ไร่) โดย กรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมสนับสนุนเชื้อราไตรโคเดอร์มาให้แก่เกษตรกรสำหรับนำไปใช้ฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรหลังน้ำลดได้อย่างเพียงพอกับพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ทั้งนี้ เชื้อราไตรโคเดอร์มา สามารถใช้ในการควบคุมโรคพืชได้หลายชนิด ทั้งบริเวณราก ลำต้น และใบ เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคใบติดของทุเรียน โรคเน่าคอดิน โรคกาบใบแห้งของข้าว โรคเหี่ยว โรคแอนแทรคโนสของพริก เป็นต้น โดยเกษตรกรสามารถขอรับเชื้อราไตรโคเดอร์มา ได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) ในพื้นที่ของท่าน
ส่วนการเตรียมผลิตพืชพันธุ์ดี ดำเนินการโดยศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 ศูนย์ และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ภายใต้โครงการผลิตพืชพันธุ์ดีเพื่อสำรองในกรณีช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย และใช้ในภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งได้ดำเนินการเพาะพันธุ์เตรียมพร้อมรับมืออยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะพืชพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมเพาะปลูกและรับประทาน อาทิ พริก มะเขือเปราะ มะเขือเทศ มะเขือยาว มะเขือพวง กะเพรา แมงลัก กระเจี๊ยบเขียว กล้วยน้ำว้า มะละกอ ทุเรียน กาแฟ เป็นต้น
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ในส่วนเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือยังคงเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 ในอัตราดังนี้ ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่ ตามพื้นที่เสียหายจริงไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ทั้งนี้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว