กรมส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่นครพนนม ชูไม้ผล GI “สับปะรดหวานท่าอุเทน” และ “ลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1”

กรมส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่จังหวัดนครพนม สนับสนุนนกลุ่มแปลงใหญ่ GI ได้แก่ ผู้กลุ่มแปลงใหญ่ผู้ปลูกสับปะรด GI ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และกลุ่มแปลงใหญ่เกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ นพ.1 ตำบลขามเฒ่า อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม  โดยมีนางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม ให้การต้อนรับ

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร  เปิดเผยว่า สับปะรดหวานท่าอุเทน (Tha Uthen Pineapple) คือ สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียปลูกในภูมิประเทศที่เหมาะสม ทั้งสภาพภูมิประเทศ ที่เป็นลูกคลื่น ลอนตื้น ดินร่วนปนทราย ภูมิอากาศมีฝนตกสม่ำเสมอตลอดปี ส่งผลต่อคุณภาพสับปะรด แม้ไม่มีการรดน้ำเพิ่มเติมผลผลิตที่ได้ก็ยังหวานฉ่ำ ผนวกกับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ รวมถึงภูมิปัญญาความเอาใจใส่ในการจัดการ การปกป้องผลผลิตไม่ให้โดนแดด  ทำให้ได้สับปะรดที่มีเนื้อละเอียดแน่นสีเหลืองเข้ม ตาตื้น รสชาติหวานฉ่ำ กลิ่นหอม ไม่กัดลิ้น และไม่ระคายคอ แกนหวาน กรอบรับประทานได้ แตกต่างไปจากพันธุ์เดิม สับปะรดท่าอุเทน ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 เป็นเวลา 2 ปี ซ้อน จากการประกวดสับปะรดระดับประเทศของกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อปี พ.ศ. 2548 และ 2549 และได้รับการขึ้นทะเบียน “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)” สับปะรดท่าอุเทน (Tha Uthen Pineapple) จากกรมทรัพย์สินปัญญา ปี พ.ศ. 2557  นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของจังหวัด ที่ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรในจังหวัดนครพนม โดยมีพื้นที่ปลูกครอบคลุมอำเภอท่าอุเทนและอำเภอโพนสวรรค์ รวมพื้นที่ 5,188 ไร่ เกษตรกร 507 ราย ผลผลิตเฉลี่ย 4,144 กก./ไร่ ให้ผลผลิตมากในช่วงเดือนเมษายน – ต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูกาลที่ผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดในปริมาณที่มาก

สำหรับกลุ่มแปลงใหญ่ผู้ปลูกสับปะรด GI ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน มีการรวมกลุ่มที่เข็มแข็งและได้รับการถ่ายทอดความรู้ในการพัฒนาและเพิ่มผลผลิต ผ่านกลไก เกษตรแบบแปลงใหญ่ และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ในการจัดทำแผนและการบริหารจัดการกลุ่มโดยการมีส่วนร่วมของสมาชิกอย่างต่อเนื่อง จนทำให้กลุ่มเกิดความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ในส่วนของการจัดการด้านการตลาด สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้ส่งเสริมและขับเคลื่อนตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ให้กับเกษตรกรได้มีความรู้ เทคนิค และวิธีการจัดการสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตในรูปแบบตลาดออนไลน์มากขึ้น มีการเปิดช่องทางการจำหน่ายผลผลิตสับปะรดแบบออนไลน์ ซึ่งจะเป็นช่องทางในการโปรโมทและช่วยในการจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร อีกทั้งยังเป็นการนำผู้ผลิตและผู้บริโภคมาเจอกันโดยตรง นอกจากนี้ทางกลุ่มยังมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างตัวแทนวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผู้ปลูกสับปะรด GI ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน กับตัวแทนบริษัทไปรษณีย์ไทย โดยไปรษณีย์จังหวัดนครพนม ที่มีตลาดจำหน่ายสินค้าออนไลน์อย่าง www.thailandpostmart.com และบริษัทเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด หรือ (Tops Market) ที่เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ มีศูนย์จำหน่ายและศูนย์กระจายสินค้าอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อที่จะรับซื้อสับปะรดท่าอุเทน (พืช GI) ของเกษตรกรชาวสวนจังหวัดนครพนมไปจำหน่ายตลอดทั้งฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ สร้างรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสับปะรดท่าอุเทนได้อย่างมั่นคง

ต่อมารองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร  ได้ลงพื้นที่กลุ่มแปลงใหญ่เกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ นพ.1 ตำบลขามเฒ่า อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม  ซึ่งลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 หรือ นพ.1 เป็นลิ้นจี่ที่พัฒนาโดยกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร นำมาต่อยอดส่งเสริม ให้เกษตรกร โดยเฉพาะในจังหวัดนครพนมปลูก จนเป็นสินค้า GI ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครพนม นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกษตรกร รวมกลุ่มแปลงใหญ่ลิ้นจี่ จากข้อมูลปี 2565 มีผลผลิตรวม 707 กก./ไร่ พื้นที่ปลูก 2,698 ไร่ เกษตรกร จำวนวน 1,366 ราย (ที่มา : สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ตุลาคม (2565))

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร  กล่าวต่อว่า ลักษณะที่โดดเด่นของลิ้นจี่ นพ.1 คือ รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ผลใหญ่ เนื้อแห้ง ไม่เละ เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเร็ว สำหรับพันธุ์ลิ้นจี่ ที่ปลูกในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ปลูกในภาคกลางและภาคอื่น ๆ เป็นพันธุ์ที่ต้องการความหนาวเย็นที่ไม่เย็นมากและระยะเวลาหนาวเย็นที่ต่อเนื่องกันไม่นานก็สามารถชักนำให้ออกดอกได้ เรียกว่า ลิ้นจี่กลุ่มพันธุ์เบา เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือเมษายน เช่น พันธุ์ค่อม สำเภาแก้ว เขียวหวาน กระโถนท้องพระโรง สาแหรกทอง และพันธุ์นครพนม 1 เป็นต้น และกลุ่มพันธุ์ที่ปลูกทางภาคเหนือ เป็นพันธุ์ที่ต้องการความหนาวเย็นมากและต่อเนื่องยาวนานในการกระตุ้นและชักนำการออกดอก ให้ผลผลิตในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม เช่น พันธุ์ฮงฮวย จักรพรรดิ์ กิมเจ็งบริวสเตอร์ และกิมจี๊ เป็นต้น

 “ลิ้นจี่ นพ.1 ในพื้นที่ จ.นครพนม ส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วง 8 – 10 ปี ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ซึ่งนับเป็นสายพันธุ์ที่ได้จากการกลายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด มีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่สถานีทดลองพืชสวนนครพนม (ศวพ.นครพนม) อีกทั้งเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่จังหวัดนครพนมมีแผนส่งเสริมพัฒนาการผลิตและการตลาด ให้เป็นสินค้าสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เนื่องจากตลาดต้องการสูง ดังนั้น ลิ้นจี่ นพ.1 จึงนับว่าเป็นพืชอนาคตไกลที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และมีเกษตรกรเริ่มหันมาสนใจเพาะปลูก โดยปัจจุบันมีการรวมกลุ่มจัดตั้งแปลงใหญ่ผู้ปลูกลิ้นจี่ นพ.1 มีเกษตรกรสมาชิกประมาณ 60 ราย ซึ่งทางกลุ่มแปลงใหญ่ มีการทำ MOU การจําหน่ายลิ้นจี่ นพ.1 ล่วงหน้ากับไปรษณีย์ไทยออนไลน์ ทั่วประเทศ วางจําหน่ายในห้างสรรพสินค้า รวมถึงส่งออกประเทศจีน โดยในปี 2565 ทางกลุ่มคาดว่าจะเพิ่มช่องทางการตลาดให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม ชิม ช้อป ที่สวนอีกด้วย” นายรพีทัศน์กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2565 จังหวัดนครพนมมีการสนับสนุนเกษตรกรปลูกลิ้นจี่ นพ.1 ภายใต้โครงการส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนม และมีคณะทำงานด้านการตลาดระดับจังหวัดเข้าขับเคลื่อนการค้าและจัดหาช่องทางการตลาดเพื่อจําหน่ายเพิ่มเติมทั้งในรูปแบบออนไลน์ การทำเกษตรพันธะสัญญา และการสร้างเวทีการจับคู่ธุรกิจ จัดทำระบบคุณภาพ หรือ GAP เป็นสินค้าเกรดพรีเมียม หากท่านใดสนใจศึกษาดูงานกลุ่มแปลงใหญ่ผู้ปลูกลิ้นจี่ นพ.1 หมู่ 2 บ้านขามเฒ่า ตำบลขามเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่คุณรัศมี อุทาวงศ์ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ลิ้นจี่ นพ.1 โทรศัพท์ 08-1320-1685 หรือ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม โทรศัพท์ 0-4251 – 1215 ในวันและเวลาราชการ