กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่อง การพัฒนาการพัฒนาวิชาการด้านการเรียนการสอน
การวิจัย และการส่งเสริมการเกษตร กับสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เพื่อยกระดับอาชีพการเกษตรให้มีความมั่นคง
และยั่งยืน
นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงมีภารกิจสำคัญในการพัฒนาเจ้าหน้าที่ควบคู่กับการพัฒนาเกษตรกร การขยายผลเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ประโยชน์ จากสถาบันวิชาการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานวิชาการต่าง ๆ เพื่อยกระดับอาชีพการเกษตรให้มีความมั่นคงและยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในด้านการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกร และเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงการส่งเสริมสถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start Up ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วย การพัฒนาวิชาการด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการส่งเสริมการเกษตร ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรกับสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันฉบับนี้ เกิดขึ้นเพื่อผลักดันให้เกิดการร่วมมือในการพัฒนาวิชาการด้านการวิจัยและการส่งเสริมการเกษตร องค์ความรู้ วิชาการไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน เกษตรกรต่อไป
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ จะร่วมกันพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร โดยมุ่งเน้นการนำผลงานวิจัยพร้อมใช้ประโยชน์ไปขยายผลในพื้นที่ เช่น ผลงานวิจัย “เครื่องสูบน้ำเพื่อเพิ่มสมรรถนะให้สูงขึ้นสำหรับภาคการเกษตร” โดยได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบ online ให้กับเกษตรกรที่สนใจในศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 2 จังหวัด คือ ศพก. อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี และ ศพก. อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี และได้มอบเครื่องสูบน้ำต้นแบบกับ ศพก. สิงห์บุรี เพื่อนำไปทดลองใช้ และอยู่ระหว่างการปรับปรุงให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ และ ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ ของสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น เพื่อเพิ่มทักษะใหม่ การทบทวนทักษะ และการพัฒนาทักษะในการพัฒนากำลังคน บัณฑิตศึกษา ให้แก่ Young Smart Farmer (YSF) Smart Farmer (SF) และบุคลากรทั้งสองหน่วยงานให้สอดคล้องกับการพัฒนาคนภาคการเกษตร
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและการเกษตร สมัยใหม่ พร้อมทั้งการเสริมความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการ การประยุกต์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตที่ประสบความสำเร็จในภาคอุตสาหกรรม เพื่อข้าสู่การวางแผนการผลิตในภาคเกษตรกรรม มีการสอดแทรกแนวคิดเรื่องการลดความซ้ำซ้อน การกําจัดของเสีย และการลดต้นทุนในทุกกระบวนการ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถผลิตได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต