นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก เป็น 1 ในนโยบายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญ และเป็นภารกิจหลักของนักส่งเสริมการเกษตรในการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกร ชุมชนของเกษตรกรได้รับการพัฒนาให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะการบริหารจัดการตั้งแต่ฐานรากในการทำเกษตร อย่างการบริหารจัดการดิน และปุ๋ย ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการดิน และการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง อย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรในชุมชน ผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการ ศดปช. ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจกรรมภายในศูนย์ร่วมกัน และต้องอาศัยการส่งเสริมสนับสนุนองค์ความรู้การจัดการดินและปุ๋ยที่ถูกต้องจากพี่เลี้ยง ซึ่งก็คือ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานดินและปุ๋ยของกรมส่งเสริมการเกษตร ดังนั้นการจะพัฒนาให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งอย่างมีศักยภาพได้นั้น นักส่งเสริมการเกษตรจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อนำไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรได้อย่างถูกต้องด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการสนับสนุนศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) มาตั้งแต่ปลายปี 2557 และในปี 2558 ก็ได้จัดตั้ง ศดปช. ครบทุกอำเภอใน 77 จังหวัด รวมจำนวน 882 ศูนย์ มีสมาชิก 17,640 ราย และในปัจจุบันทั่วประเทศมี ศดปช. เครือข่าย เพิ่มขึ้นตามความต้องการของพื้นที่ รวมจำนวน 1,135 ศูนย์ มีสมาชิก ศดปช. เครือข่าย รวมทั้งสิ้น 33,653 ราย และด้วยจำนวน ศดปช. เครือข่าย ที่เพิ่มขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานดินและปุ๋ยในทุกระดับ เพื่อให้มีความรู้และทักษะในการเป็นนักส่งเสริมด้านดินและปุ๋ยอย่างมืออาชีพ เป็นทีมเรียนรู้ สามารถถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีด้านการจัดการดินและปุ๋ย การจัดการธาตุอาหารสู่เกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการดินและปุ๋ยที่ถูกต้องเพื่อการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต ทั้งนี้ การสนับสนุนความรู้ให้แก่ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานดินและปุ๋ย และเกษตรกรสมาชิก ศดปช. ในปีที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้
1) เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการ 4 ถูก คือ ถูกสูตร/ชนิด ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี รวมทั้งมีการใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน ปรับค่า pH ดินให้เหมาะสม ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน
2) เกษตรกรนำเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินไปใช้ในพื้นที่ตนเองเพิ่มขึ้นเป็น 244,853 ไร่ ได้รับผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ลดต้นทุนปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยร้อยละ 25.2 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 73 ล้านบาท
3) เกษตรกรมีการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ ได้จำนวน 4,074,677.83 ตัน ได้แก่ ปุ๋ยคอก 682,570.94 ตัน ปุ๋ยหมัก 387,321.09 ตัน ปุ๋ยพืชสด 253,886.51 ตัน ไถกลบตอซัง 2,674,328.53 ตัน คิดเป็นธาตุอาหาร N จำนวน 41,633.31 ตัน ธาตุอาหาร P จำนวน 31,951.72 ตัน และ ธาตุอาหาร K จำนวน 61,244.37 ตัน
นายเข้มแข็ง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่และเครือข่ายศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ระดับประเทศ หลักสูตร พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ด้านดินและปุ๋ย ปี 2566 เป็นการเพิ่มเติมและทบทวนความรู้ทางวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทบทวนทักษะที่จะใช้ในการส่งเสริมงานด้านดินปุ๋ย รวมถึงพัฒนาแนวคิดด้านการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ให้แก่นักส่งเสริมการเกษตรผู้รับผิดชอบงานดินปุ๋ย เพื่อนำองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับไปปรับใช้ในการถ่ายทอดสู่เกษตรกร และขับเคลื่อนให้ ศดปช. เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการดินและปุ๋ยของชุมชนได้อย่างแท้จริง และพัฒนาต่อยอดการดำเนินการไปสู่การทำธุรกิจให้บริการด้านดินและปุ๋ยในชุมชน เชื่อมโยงเครือข่ายการให้บริการไปสู่การผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่ และสู่ชุมชนอย่างกว้างขวาง ตามเจตนารมณ์ที่กรมส่งเสริมการเกษตรจัดตั้งขึ้นต่อไป