กรมส่งเสริมการเกษตร ยกระดับสวนกล้วยไม้ GAP เน้นใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ต่อยอดสู่ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนและแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และคณะผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการจัดการสวนกล้วยไม้ตัดดอกคุณภาพตามมาตรฐาน GAP ณ สวนกล้วยไม้ของนายสมศักดิ์ สัจจานุรักษ์วงศ์ (Somsak Orchid) แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องการนำชีวภัณฑ์มาใช้ในการกำจัดศัตรูพืชเพื่อลดการใช้สารเคมี และสามารถผลิตชีวภัณฑ์ใช้เอง และขยายผลไปสู่เกษตรกรข้างเคียง จนสามารถต่อยอดเป็นศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนแขวงหนองค้างพลู รวมทั้งได้รับเลือกให้เป็นจุดเรียนรู้ด้านการผลิตกล้วยไม้ตัดดอกและผลิตชีวภัณฑ์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ด้วย

นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับสวนกล้วยไม้ Somsak Orchid ของนายสมศักดิ์ สัจจานุรักษ์วงศ์ เดิมเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วเป็นพื้นที่ปลูกผัก ก่อนจะเริ่มทดลองปลูกกล้วยไม้ จำนวน 5 ไร่ เนื่องจากขณะนั้นราคากล้วยไม้ตัดดอกมีราคาค่อนข้างสูง ประกอบกับบริเวณพื้นที่เขตหนองแขม เขตบางแค เป็นพื้นที่ที่ปลูกกล้วยไม้อย่างแพร่หลาย จึงปรับเปลี่ยนมาปลูกกล้วยไม้ จนปัจจุบันสวนกล้วยไม้ของนายสมศักดิ์ มีพื้นที่ จำนวน 14 ไร่ โดยในด้านการผลิตกล้วยไม้ของนายสมศักดิ์ ประสบปัญหาด้านศัตรูพืชเข้าทำลาย จึงได้นำชีวภัณฑ์ คือ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า และเชื้อราบิวเวอเรีย มาใช้ในการกำจัดศัตรูพืชในแปลงกล้วยไม้ เพื่อลดการใช้สารเคมี โดยทดลองใช้ในสวนของตนเองก่อนจะนำไปขยายผลใช้ในสวนของเกษตรกรบริเวณใกล้เคียง ซึ่งจากการใช้ชีวภัณฑ์สามารถลดค่าใช้จ่ายสารกำจัดศัตรูพืชได้เป็นจำนวนมากและทำให้เกษตรกร มีสุขภาพดี ปลอดภัยจากสารเคมี ปัจจุบัน สวนกล้วยไม้ของนายสมศักดิ์ ได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)

สำหรับด้านการตลาด นายสมศักดิ์ได้จำหน่ายกล้วยไม้ผ่านพ่อค้าคนกลาง ปากคลองตลาด และจัดช่อจำหน่ายหน้าสวน รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่และผู้ที่สนใจทั่วไป เป็นจุดเรียนรู้ด้านการผลิตกล้วยไม้ตัดดอกให้กับเกษตรกรในพื้นที่ อีกทั้งยังมีการรวมกลุ่มเกษตรกรจัดตั้งเป็นศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนแขวงหนองค้างพลู โดยมีจำนวนสมาชิก 24 ราย และเป็นจุดเรียนรู้การผลิตชีวภัณฑ์อีกด้วย

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรปลอดภัยโดยจัดการอบรม ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และด้านการควบคุมกำจัดแมลงศัตรูพืชผ่านการจัดกระบวนการรู้เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน รวมถึงมีการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ในการผลิตชีวภัณฑ์ เป็นการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร พร้อมส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรในอนาคต โดยสนับสนุนให้ใช้ชีวภัณฑ์ เพิ่มมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร และพัฒนาด้านตลาด การส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาเป็นจุดเรียนรู้การผลิตกล้วยไม้ด้วย IoT (Internet of Thing) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและเพิ่มความยั่งยืนในการทำการเกษตรต่อไป