นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้บุคลากรแต่ละระดับมีความพร้อมในการปฏิบัติงาน และพร้อมในการพัฒนาองค์กรเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตรสอดคล้องกับนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล และของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในหลายประเด็นในการพัฒนาองค์กรเกษตรกร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งการถ่ายทอดความรู้ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรดำเนินการภายใต้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน หรือ ศจช. นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานภาคการเกษตร ทั้งทางด้านการเสริมสร้างความมั่นคงทางการเกษตร การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตร และการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า 6 ปัจจัยของกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรที่ช่วยให้การขับเคลื่อนงานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนประสบความสำเร็จได้นั้น สืบเนื่องจากที่กระบวนการโรงเรียนเกษตรกรเกิดจากปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกร โดยมีทีมวิทยากรพี่เลี้ยงที่มีศักยภาพ และเกษตรกรเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เรียนรู้ ทดสอบ พิสูจน์ทราบ จากแปลงเรียนรู้ ประมวลผลและตัดสินใจ เกษตรกรมีการปฏิบัติต่อเนื่องและขยายผลสู่ชุมชนรอบข้าง ซึ่งการขับเคลื่อนกระบวนการและความมุ่งหวังของกรมส่งเสริมการเกษตรนั้น คือ ต้องการพัฒนาเจ้าหน้าที่โดยใช้หลักสูตรวิทยากรกระบวนการอย่างต่อเนื่อง จนสามารถยกระดับให้เป็นวิทยากรกระบวนการต้นแบบ โดยเจ้าหน้าที่วิทยากรกระบวนการต้นแบบจะนำกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรไปถ่ายทอดให้กับเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด/อำเภอ เพื่อสร้างทีมวิทยากรกระบวนการของจังหวัด หลังจากนั้นทีมวิทยากรกระบวนการของจังหวัดจะทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรให้แก่เกษตรกร (ตลอดกระบวนการผลิต) จนสามารถเป็นเกษตรกรต้นแบบ Farmer of Trainer และเกษตรกรนำแนวทางโรงเรียนเกษตรกรพัฒนากระบวนการผลิตของตนเองสู่การผลิตสินค้าเกษตรพรีเมี่ยม ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG
นายรพีทัศน์ กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ใช้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกรมาใช้ถ่ายทอดความรู้ในการแก้ไขปัญหาศัตรูพืชระบาดเป็นหลัก โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2535 และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน ซึ่งได้มีการปรับปรุงและประยุกต์ใช้เทคนิคตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรมาใช้พัฒนากิจกรรมโครงการต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรตลอดกระบวนการเพราะปลูก เริ่มตั้งแต่การจัดการดินที่เหมาะสมต่อการเพราะปลูกพืช การเตรียมพันธุ์ที่สะอาด เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพ การควบคุมและป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน (IPM) ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม โดยมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปฏิบัติด้วยตนเองผ่านแปลงเรียนรู้ ทดสอบ พิสูจน์ทราบด้วยตัวของเกษตรกรเองจนเกิดความเชื่อมั่น แล้วนำไปปฏิบัติ และขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่นด้วยกันเอง โดยขับเคลื่อนในงานส่งเสริมการเกษตรผ่านศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) มีเจ้าหน้าที่เป็นวิทยากรพี่เลี้ยงช่วยอำนวยความสะดวกการจัดการการเรียนรู้ร่วมกันตลอดกระบวนการ สำหรับปีงบประมาณ 2566 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดการอบรมพัฒนาศักยภาพวิทยากรพี่เลี้ยงขับเคลื่อนงานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร จำนวน 2 รุ่น รุ่นละ 60 คน รวม 120 คน ภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ปี 2566 ขึ้น ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น นาดาดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร โดยเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการมีวิทยากรบรรยายให้ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ ตลอดจนปัจจัยสู่ความสำเร็จของการดำเนินงานโรงเรียนเกษตรกร ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรเชื่อมั่นว่าจะทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับทราบถึงเทคนิค วิธีการ และข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อจะนำไปพัฒนาศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร 77 จังหวัดต้นแบบ ในพื้นที่รับผิดชอบให้ดียิ่งขึ้นต่อไป