เมื่อวานนี้ (10 มกราคม 2566) นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี ซึ่งตั้งอยู่ที่ 165 หมู่ 4 ตำบลเมืองเพีย อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุม 7 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย เลย สกลนคร นครพนม และจังหวัดบึงกาฬ
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ว่า การเลือกใช้พืชพันธุ์ดีในการเพาะปลูก จะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดปริมาณการใช้พันธุ์พืชต่อไร่ ช่วยลดต้นทุนของเกษตรกร รวมทั้งหากพันธุ์พืชมีความแข็งแรง ผลผลิตต่อไร่จะเพิ่มสูงขึ้น เกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรมีเป้าหมายให้เกษตรกรได้มีพืชพันธุ์ดีใช้ในราคาที่เหมาะสม และมีปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร โดยได้มอบหมายภารกิจดังกล่าวให้แก่ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชจังหวัดชลบุรี ตรัง นครราชสีมา นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ พิษณุโลก มหาสารคาม ลำพูน สุพรรณบุรี และจังหวัดอุดรธานี ทำหน้าที่ในการวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการพืชพันธุ์ดี (ยกเว้นเมล็ดพันธุ์ข้าว) ผลิตพืชพันธุ์ดี ทั้ง 4 สายการผลิต คือ ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ และพันธุ์พืชจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ด้วยกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม ให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน ตรงตามความต้องการของเกษตรกร เพื่อสนับสนุนงานส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดเพื่อเป็นศูนย์กลางในการกระจายพืชพันธุ์ดี สำหรับให้บริการและจำหน่ายแก่เกษตรกร ภายใต้กลไกการดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเกษตร และพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านการผลิตและจำหน่ายพืชพันธุ์ดี ให้กับทั้งสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ในเขตรับผิดชอบของศูนย์ขยายพันธุ์พืชนั้น
ปัจจุบัน ศูนย์ขยายพันธุ์พืช มีโรงเรือนอนุบาลพันธุ์พืช ที่สามารถรองรับการผลิตพืชพันธุ์ดีได้ถึง 3 ล้านต้น/ศูนย์/ปี รวมทุกแห่ง 30 ล้านต้น/ปี เพื่อใช้ในกิจกรรมที่แตกต่างกัน อาทิ โรงเรือนอนุบาล 1 เป็นโรงเรือนสำหรับการย้ายปลูกและอนุบาลพันธุ์พืชจากห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โรงเรือนแม่พันธุ์ปลอดโรค สำหรับเตรียมแม่พันธุ์พืชให้สมบูรณ์ ลดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ต่างๆ และบำรุงต้นพันธุ์ให้แข็งแรง ก่อนผลิตขยายด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต่อไป โรงเรือนสาธิต เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการปลูกพืชในโรงเรือนให้กับเกษตรกรหรือบุคคลทั่วไป โรงเรือนเพาะเมล็ด สำหรับการผลิตขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยเฉพาะกลุ่มพืชผักและพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง (หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ พริกหวาน และไม้ดอกไม้ประดับ) โรงเรือนจำหน่าย รองรับการผลิตขยายพันธุ์พืชสายการผลิตต้นพันธุ์ โดยเฉพาะต้นพันธุ์จากวิธีการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เช่น การปักชำ เสียบยอด และใช้เพื่อเป็นสถานที่สำหรับการปรับสภาพต้นพันธุ์พืชให้อยู่ตามสภาพแวดล้อมปกติตามธรรมชาติ เป็นต้น