ยกระดับคุณภาพทุเรียนหมอนทองตะวันออก ต้อนรับฤดูกาลไม้ผลปี 66 ประกาศวันเก็บเกี่ยว พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรนำตัวอย่างทุเรียนส่งตรวจก่อนตัด

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรมีมาตรการสำคัญในการยกระดับคุณภาพทุเรียนหมอนทองตะวันออก เพื่อรณรงค์และสร้างภาพลักษณ์ของทุเรียนประเทศไทย ด้วยการยกระดับการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์เนื้อน้ำหนักแห้ง โดยปรับเพิ่มจากค่าเฉลี่ยมาตรฐานเดิมที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 32 เพิ่มเป็นร้อยละ 35 จะทำให้ผลผลิตทุเรียนหมอนทองที่ได้มีรสชาติดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตรในการจัดหาผู้รับซื้อทุเรียน โดยเกษตรกรจะขายผลผลิตทุเรียนหมอนทองได้ในราคาที่สูงกว่าปกติ ในขณะที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดจังหวัดตราด และสำนักงานเกษตรจังหวัดจังหวัดระยอง จะทำหน้าที่ในการประสานหรือจัดหาเกษตรกรที่ประสงค์จะเข้าร่วมมาตรการเก็บเกี่ยวทุเรียนที่ระดับร้อยละ 35 มาจำหน่ายให้กับผู้รับซื้อ โดยในเบื้องต้นจะเป็นการดำเนินการในเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการที่มีความสมัครใจยกระดับคุณภาพทุเรียนไทย รวมทั้งหาแนวทางดำเนินการจัดงานรณรงค์ฯ เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และสร้างเครือข่ายการยกระดับคุณภาพทุเรียนไทยและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพให้หมดไป

                นอกจากนี้ ทางด้านจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ยังได้ประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียนเป็นรายภาค โดยทุเรียนพันธุ์กระดุมและพวงมณี ประกาศวันเก็บเกี่ยวเป็นวันที่ 10 มีนาคม 2566 ทุเรียนพันธุ์ชะนี ประกาศวันเก็บเกี่ยวเป็นวันที่ 20 มีนาคม 2566 และทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ประกาศวันเก็บเกี่ยวเป็นวันที่ 15 เมษายน 2566 และมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นหน่วยรับผิดชอบในการจัดทำประกาศจังหวัดต่อไป สำหรับในส่วนของเกษตรกรนั้น ได้ขอความร่วมมือก่อนจะเก็บเกี่ยวตามวันประกาศฯ ให้นำตัวอย่างผลทุเรียนลูกที่อ่อนที่สุดในรุ่นที่จะทำการเก็บเกี่ยวมาให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ทำการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งเพื่อออกใบรับรองความแก่ สำหรับใช้แนบไปกับรถขนส่งทุเรียนไปจำหน่าย ที่ล้ง/โรงคัดบรรจุ ซึ่งได้มีการกำหนดค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ไว้ต่างกันดังนี้ 1) พันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง 2) พันธุ์ชะนี ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง 3) พันธุ์พวงมณี ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง และ 4) พันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง

                ในส่วนของสถานการณ์ไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง ของ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง จันทบุรี และตราด ปี 2566 มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 871,626 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 838,119 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.00 เนื้อที่ให้ผลผลิตรวม 659,501 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 651,604 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.21  ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,764 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565 ที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,826 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 3.40 และคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตรวม 1,163,618 ตัน ลดลงจากปี 2565 ที่มีจำนวน 1,189,522 ตัน คิดเป็นร้อยละ 2.18  ทั้งนี้ตามที่ได้คาดการณ์ปริมาณผลผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ในปีนี้ เงาะ มังคุด ลองกอง มีแนวโน้มปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่มีฝนตกชุกติดต่อกันส่งผลให้การออกดอกของไม้ผลเว้นช่วง เพราะต้นชุ่มน้ำนาน สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการออกดอกของไม้ผล ประกอบกับมีการโค่นต้นมังคุด เงาะ ลองกอง ที่ให้ผลแล้วออก เพื่อปลูกทุเรียนทดแทน ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ลดลง สำหรับการกระจายตัวของไม้ผลทั้ง 4 ชนิดนั้น จะทยอยเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ต่อเนื่องจนถึงต้นเดือนตุลาคม 2566 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกกระจุกตัวสูงสุดในช่วงกลางเดือนเมษายนต่อเนื่องถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2566

                “สำหรับทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญ ขณะนี้ออกดอกแล้วร้อยละ 65.29 พัฒนาการส่วนใหญ่อยู่ในระยะหัวกำไลและระยะมะเขือพวง บางส่วนดอกเริ่มบานบ้างแล้ว ผลผลิตจะทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งทุเรียน 3 จังหวัดของภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) ปีนี้มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 555,306 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 512,947 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8.26  เนื้อที่ให้ผลรวม 351,546 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 335,278 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.85 ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 2,152 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565 ที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 2,184 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 1.47 ทำให้มีปริมาณผลผลิตรวม 756,456 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 732,330 ตัน คิดเป็นร้อยละ 3.30 โดยเนื้อที่ยืนต้นทุเรียนที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก มีการปรับเปลี่ยนพืชอื่นเช่น ยางพารา ลำไย มังคุด เงาะ ลองกองและพื้นที่ว่างเปล่ามาปลูกทุเรียนทดแทน ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัจจัยด้านราคาและผลตอบแทนที่อยู่ในเกณฑ์ดี คุ้มค่ากับการลงทุน จึงทำให้มีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

******************************

พีรมณฑ์ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว : มกราคม 2566

สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง : ข้อมูล